กรมควบคุมโรค ร่วมกับเครือข่าย จัดเดิน - วิ่ง “รวมพลัง ยุติ วัณโรค” Walk & Run “Unite To End TB” หนุนออกกำลังกายป้องกันวัณโรค
วันนี้ (15 พ.ค.) นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดิน - วิ่ง “รวมพลัง ยุติ วัณโรค” Walk & Run “Unite To End TB” เพื่อสร้างกระแสการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายป้องกันวัณโรค จัดโดยสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนโลก และหน่วยงานสนับสนุนอื่น ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมงานและนักกีฬาเดิน - วิ่งกว่า 1,200 คน
นพ.อำนวย กล่าวว่า ปัจจุบันคาดว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 120,000 รายต่อปี ซึ่งปัญหาที่พบในขณะนี้ คือ วัณโรคดื้อยาหลายขนาน คาดว่า จะมีประมาณ 2,000 ราย ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าประมาณ 120,000 - 200,000 บาทต่อราย ประกอบกับผู้ป่วยวัณโรคส่วนมากฐานะทางครอบครัวยากจนและรู้สึกด้อยโอกาสถูกก รีดกัน รังเกียจ จึงเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการรักษาและดูแลจนหาย ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน กรมควบคุมโรค จึงมีแนวคิดและให้ความสำคัญที่จะผลักดันเชิงนโยบายยุทธศาสตร์การควบคุม วัณโรคให้เป็นวาระแห่งชาติ ดังนี้ 1. ค้นให้พบ ค้นหาวัณโรคและวัณโรคดื้อยาในกลุ่มเสี่ยง ด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ 2. จบด้วยหาย ดูแลรักษาผู้ป่วยต่อเนื่องจนครบ โดยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง 3. พัฒนาเครือข่าย เน้นเครือข่ายการเฝ้าระวัง และติดตามประเมินผล 4. นโยบายมุ่งมั่น จัดสรรงบประมาณ ตั้งกองทุนและใช้มาตรการทางกฎหมาย และ 5. สร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งเสริมพัฒนาการศึกษาวิจัย
สำหรับการจัดกิจกรรมเดิน - วิ่ง “รวมพลัง ยุติ วัณโรค” Walk & Run “Unite To End TB” ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นสร้างกระแสการดูแลสุขภาพด้วยการออกกำลังกายป้องกันวัณโรค ยังเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ การเร่งรัดยุทธศาสตร์ใหม่และยกระดับเป้าหมายไปสู่การยุติการระบาดของวัณโรค ที่สำคัญ คือ การนำเงินรายได้มาช่วยเหลือพัฒนา ส่งเสริมสร้างความเข้าใจปัญหาวัณโรค ตลอดจนกิจการดำเนินงานการควบคุม ป้องกัน และการรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วย
นพ.อำนวย กล่าวต่ออีกว่า กรมควบคุมโรค ให้ความสำคัญกับปัญหาวัณโรค โดยมีกลยุทธ์มุ่งลดวัณโรค ในรูปแบบการป้องกันควบคุมวัณโรคในเขตเมืองใหญ่ “บางโคล่โมเดล” เพื่อพัฒนารูปแบบการค้นหาและดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคในเขตพื้นที่เมืองที่ เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ในสถานประกอบการโรงงาน ผู้ขับขี่รถสาธารณะ ผู้สัมผัสร่วมบ้านในชุมชน ผู้สูงอายุ เป็นต้น และมีการติดตามกำกับการรักษาจนหาย ในโอกาสนี้ ขอแนะนำประชาชนให้สังเกตอาการเจ็บป่วย โดยอาการของวัณโรคจะเริ่มจากไอเรื้อรังนานเกิน 2 สัปดาห์ มีไข้ต่ำ ๆ ในช่วงบ่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้เร็วที่สุด เพราะวัณโรค หากพบเร็ว โอกาสรักษาหายสูงและไม่แพร่กระจายเชื้อ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค โทร. 0-2212-2279 กด 4 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่