xs
xsm
sm
md
lg

ขับเคลื่อน 3 กลุ่ม “ผู้ผลิต-ผู้จ่าย-ปชช.” ใช้ยาสมเหตุผล ลดเชื้อดื้อยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เร่งขับเคลื่อน 3 กลุ่ม ใช้ยาสมเหตุผล ลงนามร่วม “ผู้ผลิตยา” รวมกว่า 100 บริษัท ปฏิบัติตามเกณฑ์ส่งเสริมการขายยา จ่อขยายโครงการ RDU Hostipal เป็นระบบประกันคุณภาพ ตัวชี้วัดคุณภาพมาตรฐานโรงพยาบาล พร้อมฝังความรู้ ปชช. อันตรายจากเชื้อดื้อยา ไม่ใช้ยาต้านแบคทีเรียพร่ำเพรื่อ

วันนี้ (30 มี.ค.) ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในฐานะประธานอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล แถลงข่าว “การขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเพื่อคนไทย” ก่อนการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ว่า ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลมีหลายเรื่อง หลัก ๆ คือ การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ หรือการใช้ยาพาราเซตามอลเกินปริมาณ ซึ่งการใช้ยาไม่สมเหตุผลจะก่อให้เกิดผลเสียตามมาหลายอย่าง เช่น ปัญหาเชื้อดื้อยา การได้รับปริมาณยาเกินขนาด เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศ เป็นต้น ปัญหามีทั้งจากการจ่ายยาซ้ำซ้อนของผู้ทำการจ่ายยา หรือพฤติกรรมของผู้ป่วยเองที่มีพฤติกรรมการใช้ยาไม่สมเหตุผล นำไปสู่การบริโภคยาที่ไม่ถูกโรค ถูกวิธี และถูกเวลา

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการวางแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1. ผู้ผลิตยา ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตและนำเข้ายา ประกอบด้วย องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ และสมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์ รวมกว่า 100 บริษัท ว่า จะไปปฏิบัติตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทางผู้ผลิตยาเองก็ให้ความตระหนักในเรื่องการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยไม่คำนึงถึงแต่รายได้จากการขายยาเพียงอย่างเดียว 2. ผู้จ่ายยา อาทิ แพทย์ เภสัชกร เป็นต้น ให้มีความตระหนักในเรื่องนี้ เบื้องต้นได้ลงบรรจุลงไปในหลักสูตรของการผลิตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ว่า เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลเป็นเรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ ส่วนกลุ่มที่ปฏิบัติงานอยู่แล้วก็จะมีการขับเคลื่อนให้เกิดความตระหนักมากขึ้น

“ที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDU Hospital) เพื่อเป็นโรงพยาบาลต้นแบบในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งในปี 2557 มีโรงพยาบาลสมัครใจเข้าร่วมเพียง 58 แห่ง ล่าสุด ปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 200 กว่าแห่ง ครอบคลุมเขตสุขภาพที่ 1 10 11 และ 12 โดยบางพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลในจังหวัดขอนแก่นให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการทั้งจังหวัด ซึ่งในอนาคตก็จะยกระดับให้เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลเป็นระบบประกันคุณภาพของโรงพยาบาล ถือเป็นมาตรฐานหนึ่งที่โรงพยาบาลต้องดำเนินการด้วย” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวและว่า 3. ประชาชน ประเด็นสำคัญคือการให้ความรู้ ความเข้าใจ โดยเฉพาะเรื่องคิดก่อนใช้ยา ต้องถูกต้อง ถูกโรค ถูกวิธี และผลเสียของการใช้ยาไม่สมเหตุผล ซึ่งเมื่อประชาชนมีความรู้ก็จะช่วยให้ลดการใช้ยาไม่สมเหตุผลได้ดี อย่างสหรัฐอเมริกาจะพบว่าแพทย์จะต้องล้างมือหรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือก่อนตรวจคนไข้ทุกคน เพราะคนไข้เรียกร้องว่ามีการล้างมือก่อนมาตรวจร่างกายเขาหรือยัง เพราะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน หากประชาชนมีความรู้ก็จะรู้ว่าอาการแบบไหนจำเป็นต้องใช้ยาอะไร

นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้ความรู้เรื่องการใช้ยาสมเหตุผลผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นการสื่อสารกับประชาชนที่ให้ผลดี อย่างเรื่องยาอมที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ เพราะอาการเจ็บคอไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย และอาจทำให้เกิดการดื้อยาขึ้นได้ ปรากฏว่า หลังสื่อสารออกไป ในเฟซบุ๊กมีคนเข้ามาอ่านถึง 430,000 คน ไลน์เปิดอ่าน 7,000,000 คน ซึ่งหากเห็นว่าเป็นประโยชน์ และมีการส่งต่อกันออกไปก็จะยิ่งช่วยให้คนมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าลูกอมหรือยาตัวใดบ้างที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะ จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไร นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่า ทั่วไปแล้วยาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะจะระบุชื่อลงท้าย มัยซิน แต่ทางที่ดีที่สุดคือถามเภสัชกร ซึ่งถือว่าเป็นข้อดี เพราะหากคนขายไม่สามารถตอบได้ แสดงว่าไม่ใช่เภสัชกร ไม่ควรซื้อยาร้านนั้น ส่วนข้อกังวลเรื่องเชื้อดื้อยานั้น เชื้อจะหมดการดื้อยาลงไปได้ หากไม่รับประทานยาบ่อย ๆ หรือเป็นประจำ ที่น่าห่วงจึงเป็นโรงพยาบาล เพราะมีการใช้ยาทุกวัน ทำให้อัตราเชื้อดื้อยาใน รพ.สูง จึงต้องมีการขับเคลื่อนการใช้ยาสมเหตุผล ลดการใช้ยาที่ไม่จำเป็นลง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น