xs
xsm
sm
md
lg

5 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย...นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลวัฒโนสถ

โรคมะเร็งเต้านมจัดได้ว่ามะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ระบุว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี

ขณะที่ผู้หญิงอเมริกัน คาดการณ์ว่า เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมราว 40,450 คน ในปี 2015 ส่วนในปี 2016 พบผู้ป่วยหญิงอเมริกันรายใหม่ที่มีการแพร่เชื้อของมะเร็งเต้านมจำนวน 246,660 คน และที่ยังไม่มีการแพร่เชื้อมะเร็งประมาณ 61,000 คน

แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่เราได้ยินมานาน ได้ฟังมาบ่อย และเป็นโรคใกล้ตัวผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันพบเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ที่พบในผู้หญิงทั่วโลก หากแต่ยังมีความเข้าใจผิดบางประการเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมที่เราควรรู้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยที่ว่าขนาดเต้านมเล็กอาจมีโอกาศเสี่ยงน้อยกว่าเต้านมใหญ่ มีก้อนเนื้อแต่ไม่เจ็บไม่ใช่มะเร็ง หรือการทำรังสีจากเครื่องแมมโมแกรม ยิ่งทำยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด หากแต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่สัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ปัจจัยทางพันธุกรรมโดยเฉพาะหากครอบครัวมีญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว เป็นมะเร็งเต้านม หรือมะเร็งรังไข่ มีคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลายคน หรือมีญาติเคยเป็นมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อย หรือเป็นมะเร็งเต้านมพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ปัจจัยด้านฮอร์โมนเพศ คือ เริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุน้อยกว่า 12 ปี หรือประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี ผู้หญิงที่ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกหลังอายุมากกว่า 30 ปี นอกจากนี้ ผู้หญิงที่กินยาฮอร์โมนทดแทนหลังวัยทองเป็นระยะเวลานานเกิน 5 ปี ปัจจัยทั้งหมดนี้ก็มีโอกาสเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน รวมทั้งการดื่มสุรา การฉายรังสีบริเวณทรวงอก และการกินยาคุมกำเนิด ซึ่งพบว่าเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเจนมากนัก

ระยะอาการของมะเร็งเต้านมและโอกาสรักษาให้หาย อาจเรียกว่า เป็นโรคร้ายที่แฝงมาอย่างเงียบ ๆ เพราะอาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่มักจะไม่รู้สึกเจ็บ จนกระทั่งก้อนเนื้อเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น เมื่อนั้นผู้ป่วยจึงจะเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น “มะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกจะเป็นก้อนเล็ก ๆ หรือเป็นเพียงแค่กลุ่มหินปูน ซึ่งไม่สามารถคลำได้ อีกทั้งมักไม่มีอาการเจ็บ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รู้สึกเจ็บอาจพบเพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งบ่งบอกได้ว่าก้อนเนื้อมักมีขนาดใหญ่ จนเกิดการบดเบียด ดึงรั้ง หรือก้อนเนื้ออาจมีการอักเสบร่วมด้วย สำหรับคนไข้ส่วนใหญ่ที่มาพบหมอ มักจะอยู่ในระยะที่คลำเจอก้อนแล้ว หรือบางรายอาจมีเต้านมผิดรูปหรือแผลที่เต้านม ซึ่งก้อนเนื้อหากมีขนาดใหญ่ไม่เกิน 2 ซม. และไม่มีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง ถือเป็นอาการในระยะที่ 1

แต่หากคลำเจอก้อนที่มีขนาดใหญ่เกิน 2 ซม. หรือมีการกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง มักเป็นอาการในระยะที่ 2 หรือ 3 แล้ว ซึ่งการตรวจเจอในระยะเริ่มต้น เช่น ในระยะ 0 หรือระยะที่ยังไม่มีการลุกลาม โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอัตราเวลาการรอดชีวิตเกิน 10 ปีสูงถึง 95 - 100% และอัตราการรอดชีวิตที่ 10 ปี จะลดลงเหลือประมาณ 80%, 70% และ 50% ในระยะที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ สำหรับผู้ป่วยระยะที่ 4 หรือโรคมะเร็งมีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่น ๆ แล้ว จะมีเพียงผู้ป่วยไม่ถึง 10% เท่านั้นที่สามารถรอดชีวิตได้เกิน 10 ปี

อย่างไรก็ตาม การตรวจเช็กเต้านมด้วยตนเองควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และตรวจเป็นประจำทุกเดือน และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ร่วมกับการตรวจทางรังสีด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวนด์ (ultrasound) อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น หรือระยะก่อนลุกลามเพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิต หรืออัตราการรักษาให้หาย ถ้าก้อนที่ตรวจพบจากแมมโมแกรม และอัลตราซาวนด์ มีลักษณะที่บ่งบอกว่ามีโอกาสเป็นมะเร็ง จึงจะทำการเจาะชิ้นเนื้อมาตรวจโดยใช้เข็ม ซึ่งเป็นการตรวจที่คนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวมากและไม่ทำให้เนื้องอกมีการลุกลามหรือแพร่กระจาย”

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเต้านมหลัก ๆ คือ การผ่าตัดสำหรับมะเร็งระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ไปอวัยวะอื่น ซึ่งปัจจุบันสามารถผ่าตัดได้ทั้งแบบสงวนเต้าคือผ่าออกเฉพาะบางส่วนที่มีปัญหา หรือผ่าตัดออกทั้งเต้าแล้วอาจมีการเสริมสร้างเต้านมใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง หรือ ซิลิโคน หลังจากการผ่าตัดแล้วผู้ป่วยอาจต้องมีการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่ การให้เคมีบำบัด การฉายแสง การให้ยาต้านฮอร์โมนและให้ยาออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็ง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก และเพิ่มอัตราการรอดชีวิต “ถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว เราจะให้ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมน หรือยาออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับเซลล์มะเร็งเป็นตัวหลัก เนื่องจากการผ่าตัดอาจไม่ช่วยในเรื่องที่มะเร็งแพร่กระจายแล้ว อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะที่ไม่สำคัญ เช่น กระดูกและผิวหนัง ผู้ป่วย สามารถใช้ชีวิตได้อีกนาน แต่ถ้ากระจายไปที่ตับ ปอด หรืออวัยวะภายใน อัตราการรอดชีวิตก็จะลดลง ทั้งนี้ การรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม

1. สิ่งที่ได้ยินมา อาหารไขมันสูง ของมัน และของทอด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ข้อเท็จจริง อาหารไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมโดยตรง แต่อาหารบางอย่างจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น อาหารไขมันสูง เมื่อรับประทานมาก ๆ จะสะสมกลายเป็นไขมันในร่างกาย และเปลี่ยนไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเพศมีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ส่วนอาหารพวกเนื้อสัตว์ก็ไม่ได้พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ การบริโภคพืชผักหรือไฟเบอร์ จะช่วยลดการเกิดมะเร็งได้ทุกชนิดรวมทั้งมะเร็งเต้านมด้วย

2. สิ่งที่ได้ยินมา การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับ เสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยัน แม้ในอดีตจะมีหนังสือตีพิมพ์ ว่า การสวมชุดชั้นในขณะนอนหลับ อาจเกิดการบีบรัดระบบน้ำเหลือง ทำให้ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่สะดวก และมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ถึงความเกี่ยวพันดังกล่าว การสวมชุดชั้นในขณะหลับจึงไม่ได้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

3. สิ่งที่ได้ยินมา หากไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม เราก็จะไม่เป็นมะเร็งเต้านม ข้อเท็จจริง เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะมะเร็งเต้านมมีความสัมพันธ์กับพันธุกรรมแค่ 10% และมะเร็งเต้านมในปัจจุบันเกิดขึ้นได้เองมากกว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้

4. สิ่งที่ได้ยินมา ผู้หญิงที่มีเต้านมเล็ก มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงเต้านมใหญ่ ข้อเท็จจริง ไม่เป็นความจริง ปัจจัยเรื่องขนาดไม่ได้มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่มีเต้านมเล็กและใหญ่ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้เท่า ๆ กัน

5. สิ่งที่ได้ยินมา ทำแมมโมแกรมบ่อย ๆ เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม ข้อเท็จจริง ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่มีน้ำหนักเพียงพอยืนยันถึงความเชื่อดังกล่าว อีกทั้งรังสีที่ใช้ในการตรวจแมมโมแกรมมีปริมาณน้อยนิด รวมทั้งการตรวจเช็กแมมโมแกรมเพียงปีละครั้ง ก็ไม่ได้มีอันตรายหรือเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 40 - 60 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยให้แพทย์ตรวจเต้านมร่วมกับการทำดิจิตอลแมมโมแกรมและทำอัลตราซาวนด์ ที่สามารถตรวจพบความผิดปกติได้อย่างละเอียดตั้งแต่ขนาดเล็ก (เพียง 0.5 - 1 ซม.) ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยสามารถให้ผลได้อย่างถูกต้อง

การป้องกันให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ก็คือ หมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการตรวจสอบสังเกตอาการด้วยตัวเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ช่วยตรวจเช็กอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะถ้าตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะได้รับรักษาได้อย่างทันท่วงที มีโอกาสรักษาโรคมะเร็งให้หายได้สูง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น