xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.เตรียมหารือร่วมทุนการไฟฟ้าลาว ผุดบริษัทบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อรรถพร” รองผู้ว่าการ กฟผ.เตรียมบินเจรจาการไฟฟ้าลาวหลัง สปป.ลาวเสนอแผนร่วม กฟผ.และบริษัทลูก กฟผ.จัดตั้งบริษัทบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า เนื่องจากลาวมีเขื่อนผลิตไฟมากและยังตั้งเป้าเป็นแบตเตอรี่ของอาเซียน พร้อมเสนอลาวติดตั้งระบบตรวจสุขภาพเขื่อน

นายอรรถพร วัฒนวิสุทธิ์ รองผู้ว่าการพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เตรียมเดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของ สปป.ลาวเพื่อหารือความร่วมมือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สปป.ลาวได้เสนอความร่วมมือด้วยการจัดตั้งบริษัทบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในลาวร่วมกันเนื่องจาก สปป.ลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากแล้วยังตั้งเป้าหมายที่จะเป็นแบตเตอรี่แห่งอาเซียน

“สปป.ลาวได้เสนอต้องการให้การไฟฟ้า ลาว และ กฟผ. รวมทั้งบริษัทในเครือ ทั้ง เอ็กโก้ อีแกตไอ และราชบุรีโฮลดิ้ง จัดตั้งบริษัทบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในลาวร่วมกัน ซึ่ง กฟผ.มีความเชี่ยวชาญด้านการบำรุงรักษาและเดินเครื่องโรงไฟฟ้า โดยปัจจุบัน กฟผ.ให้บริการบำรุงรักษาและเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใน สปป.ลาวกว่า 3,000 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี” นายอรรถพลกล่าว

นอกจากนี้ กฟผ.จะเสนอให้ลาวติดตั้งระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัย หรือระบบตรวจสุขภาพเขื่อน ซึ่งเป็นระบบที่ กฟผ.และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ร่วมกันพัฒนา และมีการติดตั้งใน 14 เขื่อนของ กฟผ.ในประเทศไทยแล้ว ซึ่งระบบนี้สามารถดูผ่านแอปพลิเคชันได้ตลอดเวลา ติดตามพฤติกรรมเขื่อนทั้งแผ่นดินไหว และน้ำหลาก ทำให้ป้องกันปัญหาและแก้ไขได้อย่างทันท่วงที สร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเขื่อน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. กฟผ.ได้จัดพิธีรับมอบระบบตรวจวัดข้อมูลระยะไกลด้านความปลอดภัยเขื่อน (Dam Safety Remote Monitoring System : DS - RMS) หรือ “ระบบตรวจสุขภาพเขื่อน” จาก ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระบบตรวจวัดฯ ดังกล่าวเป็นความร่วมมือของ กฟผ. และเนคเทค ตั้งแต่ปี 2557 เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมและสร้างอุปกรณ์ใหม่เสริม พร้อมพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีความทันสมัย

นายกนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ รองผู้อำนวยการเนคเทค กล่าวว่า ระบบตรวจสุขภาพเขื่อนที่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันนี้เป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมและสร้างอุปกรณ์ใหม่เสริม พร้อมพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น ซึ่งทีมวิจัยและพัฒนาเชื่อมั่นว่าระบบจะสามารถตอบสนองต่อการเฝ้าระวังและการตรวจสอบสุขภาพเขื่อนได้เป็นอย่างดี สามารถนำไปปรับใช้กับเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น