xs
xsm
sm
md
lg

“แม้ว” แห้ว! ศาลปกครองยกฟ้องคดีพาสปอร์ต แถมชี้คำสัมภาษณ์เจ้าตัวผิด ม.112

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ศาลปกครอง” พิพากษายกฟ้องคดี “ทักษิณ” ฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล กรณียกเลิกพาสปอร์ต ระบุคำสั่งยกเลิกเป็นไปตามระเบียบ ไม่ขัดเรื่องสิทธิฯ ปฏิญญาสากล ไม่เลือกปฏิบัติ ชี้คำสัมภาษณ์เจ้าตัว เข้าข่ายผิด ม.112 ชัด ด้านทนายเตรียมยื่นอุทธรณ์ รับนายใหญ่สั่งทำให้เต็มที่

วันนี้ (27 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงต่างประเทศที่ยกเลิกหนังสือเดินทางรวมสองฉบับ คือ หนังสือเดินทางเลขที่ U 957411 และเลขที่ Z 530117 โดยศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเดินทางทั้งในราชอาณาจักรและการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของบุคคลไว้ สอดคล้องกับข้อ 13(2) ข้อ 29 (2) และข้อ 30 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และข้อ 12 (2) และ (3) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่โดยที่หนังสือเดินทางเป็นเอกสารของรัฐที่รัฐออกให้แก่พลเมืองของตนในการเดินทางไปต่างประเทศตามกฎหมายระหว่างประเทศ เปรียบเสมือนบัตรประจำตัวที่ผู้เดินทางใช้ยืนยันตัวบุคคลและสัญชาติของตนเพื่อประโยชน์ในการขอรับความช่วยเหลือหรือคุ้มครอง ดังนั้น แม้จะมิได้มีกฎหมายเฉพาะให้อำนาจรัฐหรือเจ้าหน้าที่ ในการออกหรือไม่ออกหรือยกเลิกหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทย แต่การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐในการดำเนินกิจการทางปกครองประการหนึ่ง ซึ่งถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รัฐจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจเพียงเท่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 และพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกอบกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ได้กำหนดให้กรมการกงสลกรมการกงสุลมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับหนังสือเดินทางและเอกสารการเดินทางให้แก่คนสัญชาติไทย ซึ่งย่อมหมายความถึงอำนาจที่จะออกหรือไม่ออกหนังสือเดินทางหรือยกเลิกหนังสือเดินทางที่ออกให้แก่คนสัญชาติไทยการใช้อำนาจรัฐ

ในกรณีนี้จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ประกอบกับเสรีภาพในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติรับรองไว้เป็นเสรีภาพที่มีเงื่อนไข มิใช่เสรีภาพโดยสัมบูรณ์ดังเช่นเสรีภาพของพลเมืองไทยที่จะไม่ถูกเนรเทศออกนอกราชอาณาจักร และเสรีภาพของพลเมืองไทยที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร การจำกัดเสรีภาพโดยการยกเลิกหนังสือเดินทางจึงสามารถกระทำได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อย

เมื่อพิจารณา ระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 ซึ่งกำหนดขั้นตอนและวิธีการในการขอหนังสือเดินทางและเอกสารการเดินทาง การปฏิเสธหรือยับยั้ง หรือยกเลิกหรือยึดหนังสือเดินทางสำหรับบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ข้อ 21 ระเบียบดังกล่าวกำหนดว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งการขอ หรือแก้ไขหนังสือเดินทางในกรณีดังต่อไปนี้ (4) เมื่อผู้ร้องกระทำผิดกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติราชการ ซึ่งขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือปิดบังความจริงอันเป็นสาระสำคัญ หรือแสดงเอกสารหลักฐานอันเป็นเท็จในการขอหนังสือเดินทาง หรือไม่อยู่ในฐานะที่จะเดินทางไปต่างประเทศ หรือหากเดินทางออกนอกราชอาณาจักรจะเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของผู้เดินทางเองหรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงปลอดภัย หรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ข้อ 23 กำหนดว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถยกเลิกและเรียกคืนหนังสือเดินทางได้ เมื่อปรากฏภายหลังว่า (2) ผู้ถือหนังสือเดินทางเป็นบุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจออกหนังสือเดินทางให้ตามข้อ 21 (4) ข้อกำหนดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักเกณฑ์เงื่อนไขบางประการที่กำหนดให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถปฏิเสธหรือยับยั้งหรือยกเลิกหนังสือเดินทางได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ระเบียบกำหนดไว้ ซึ่งเป็นการกำหนดเพียงเท่าที่จำเป็นเฉพาะบุคคลที่เข้าเงื่อนไขและข้อยกเว้นในเรื่องหนังสือเดินทางเท่านั้น และไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลในการเดินทางโดยเด็ดขาดแต่อย่างใด ระเบียบดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพในการเดินทางและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางตามที่รัฐธรรมนูญ50มาตรา 29 และมาตรา 34 บัญญัติรับรองไว้ รวมทั้งไม่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศ ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

กรณีนี้นายทักษิณอ้างว่า อธิบดีกรมการกงสุล ออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางสองฉบับไม่ถูกต้องตรงตามกฎหมายบัญญัตินั้น เห็นว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า ถ้อยคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักงาน The Chosun Ilbo ณ สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ของนายทักษิณ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเหตุการณ์รัฐประหารในไทยวันที่ 22 พ.ค. 2557 และเหตุการณ์ทางการเมืองอื่น ต่อมาถูกนำมาเผยแพร่ในเว็ปไซต์ยูทูบคลิปวิดีโอชื่อ “คลิปทักษิณให้สัมภาษณ์ทิ้งบอมบ์เบื้องหลังยึดอำนาจ อัดสุเทพ บิ๊กทหาร องคมนตรี” และเว็ปไซต์เฟซบุ๊ค โดยบัญชีผู้ใช้งานชื่อ “หยุดดัดจริตประเทศไทย” มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ประกอบกับอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา จึงมีบันทึกรายงานการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรับทราบ จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงมีหนังสือแจ้งให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ซึ่งอธิบดีกรมการกงสุลพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุตามกฎหมายที่จะยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของผู้ฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2558 ยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวของอธิบดีกรมการกงสุล จึงถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติแล้ว

ส่วนที่อ้างว่าอธิบดีกรมการกงสุล ออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำนั้น นั้น ศาลเห็นว่า คำสั่งอธิบดีกรมการกงสุลที่ยกเลิกหนังสือเดินทางเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 มิได้มีบทบัญญัติบังคับให้อธิบดีกรมการกงสุล ต้องให้โอกาสผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนจะออกคำสั่ง แต่กรณีนี้สภาพข้อเท็จจริงของเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จึงเป็นกรณีที่ไม่สามารถแจ้งหรือไม่สมควรแจ้งให้คู่กรณีทราบข้อเท็จจริงหรือมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อน เข้าข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า การไม่ออกหนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศไม่จำต้องปฏิบัติตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งหมายความรวมถึงการปฏิเสธ การยับยั้งคำขอหนังสือเดินทางและการยกเลิกหนังสือเดินทางด้วย นอกจากนี้ ยังเข้ากรณีตามมาตรา 30 วรรคสอง (1) และวรรคสาม พ.ร.บ.เดียวกัน ที่บัญญัติว่า หากเป็นกรณีที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งถือเป็นประโยชน์สาธารณะแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองไม่จำต้องให้คู่กรณีมีโอกาสทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนเช่นกัน จึงไม่อาจถือได้ว่า อธิบดีกรมการกงสุลออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของนายทักษิณ ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของการกระทำนั้นตามที่อ้าง

สำหรับที่อ้างว่าอธิบดีกรมการกงสุลใช้ดุลพินิจออกคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมนั้น ศาลเห็นว่า ถ้อยคำให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณมีเนื้อหาบางส่วนพาดพิงบุคคลตามมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยหรือชื่อเสียงเกียรติภูมิของประเทศไทยได้ โดยนายทักษิณเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยย่อมเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป และคาดหมายได้ว่าจะถูกนำไปเผยแพร่หรือส่งต่อเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แพร่หลายไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย กรณีจึงเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 326 มาตรา 328 และพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 14 (3) และ (5) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะยังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ตาม ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการกงสุลใช้ดุลพินิจพิจารณายกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของนายทักษิณ เนื่องจากเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของนายทักษิณเข้าข่ายผิดกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงปลอดภัย หรือชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย เข้าเงื่อนไขหลักเกณฑ์การยกเลิกหนังสือเดินทางตามข้อ 23 (2) ประกอบกับข้อ 21 (4) ของระเบียบกระทรวงการต่างประเทศ ว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 จึงถือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ปรากฎว่าการใช้ดุลพินิจยกเลิกหนังสือเดินทางทั้งสองฉบับของนายทักษิณ แตกต่างจากบุคคลอื่นในลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อนายทักษิณ

ด้านนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ กล่าวว่า ว่าจะแจ้งผลคำพิพากษาให้นายทักษิณทราบ ซึ่งเห็นว่ายังมีบางประเด็นที่น่าจะหยิบยกมาต่อสู้ และขออุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุดได้ ที่ผ่านมานายทักษิณก็ระบุเพียงว่าให้ทีมทนายทำให้เต็มที่ ดังนั้นคงจะใช้สิทธิในการยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น