ศาลปกครองกลางพิจารณาคดี “ทักษิณ” ฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล ปลัดกระทรวงการต่างประเทศถอนพาสปอร์ต ทนายอ้างถูกพิพากษาจำคุกและโดนออกหมายจับไม่ใช่เหตุที่เพิกถอน ซัดส่อกลั่นแกล้ง ด้านตุลาการผู้แถลงคดีเสนอความเห็น ชี้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ เหตุเจ้าตัวพูดพาดพิงความมั่นคงชาติ สมควรยกฟ้อง ขณะที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา 27 ก.ย.
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง นายชวลิต ลาภผล ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางและคณะออกนั่งบัลลังก์ออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการต่างประเทศที่ยกเลิกหนังสือเดินทางเลขที่ U957411 และ Z530117 ของนายทักษิณ ลงวันที่วันที่ 26 พ.ค. 2558
โดยนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ได้แถลงปิดคดีต่อศาลว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีอาศัยความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์ทีป่ระเทศเกาหลีใต้มาเป็นเหตุในการยกเลิกหนังสือเดินทางนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และอธิบดีกรมการกงสุลยังให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนอ้างว่านายทักษิณเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก และออกหมายจับ ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาเพิกถอนหนังสือเดินทาง เพราะหนังสือเดินทางดังกล่าวออกภายหลังข้อกล่าวหาที่อธิบดีกรมการกงสุลอ้าง จึงไม่มีเหตุผลที่จะเพิกถอน ส่วนการคุ้มครองสิทธิเป็นเรื่องสำคัญที่จะมีในการเดินทาง แต่ทั้งนี้อาจเป็นการกลั่นแกล้งคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองได้ และไม่เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายอาญา
จากนั้นนายนิทัศน์ แช่มช้อย ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการผู้แถลงคดี ได้เสนอความเห็นในคดีที่ไม่มีผลผูกพันต่อการวินิจฉัยขององค์คณะว่า ทั้งถ้อยคำให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเกาหลีใต้ของนายทักษิณ การเผยแพร่ถ้อยคำในระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ มีข้อความที่พาดพิงองคมนตรีและส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ชื่อเสียงและเกียรติภูมิของประเทศไทย ดังนั้น การที่อธิบดีกรมการกงสุล และปลัดกระทรวงการต่างประเทศมีคำสั่งยกเลิกหนังสือดังกล่าวด้วยการอ้างคำสัมภาษณ์ของนายทักษิณที่ประเทศเกาหลีใต้มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งหรือรับฟ้องข้อโต้แย้งจากนายทักษิณ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 และเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ในมาตรา 30 วรรคสอง (6) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 รวมถึงปฏิญญาสากลด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สมควรที่ศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษายกฟ้อง
จากนี้คณะตุลาการฯ ก็จะได้มีการประชุมและมีคำพิพากษา โดยได้นัดคู่กรณีฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 ก.ย. เวลา 10.00 น. ซึ่งนายวัฒนา เตียงกูล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายทักษิณกล่าวว่า ข้อเสนอของตุลาการเจ้าของสำนวนที่เสนอให้ยกฟ้องคดีนั้นไม่ใช่คำพิพากษาขององค์คณะ และเป็นเพียงแนวความคิดเห็นเท่านั้น ทั้งนี้จะต้องรอดูต้องคำพิพากษาของศาลภายในวันที่ 27 ก.ย.นี้ก่อน และจะปรึกษาหารือกับนายทักษิณในการยื่นที่จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่หากศาลพิพากษาออกมา และบอกว่าครั้งนี้เป็นการนั่งครั้งแรกของตุลาการซึ่งตนได้พูดคุยแล้วแต่ก็ไม่มีปัญหาและจะทำตามขั้นตอนต่อไป