xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แจงผิดประกาศแล้วเข้า ม.61 วรรคสองถึงผิดอาญา ไอลอว์ย้ำไม่เอื้อแสดงความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนไอลอว์ขอระงับใช้ประกาศ กกต. ทำได้-ไม่ได้ในการออกเสียงประชามติ กกต. ยันทำผิดประกาศไม่มีโทษอาญาเว้นเข้าลักษณะ ม.61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ด้าน “จอน” ซัดบรรยากาศไม่เอื้อแสดงความเห็น ลิดรอนสิทธิ ปัดมีอคติ กกต. ยกเหตุจับกุม นศ.ราชบุรีเป็นตัวอย่าง พร้อมมอบเอกสารความเห็นแย้งให้ศาลพิจารณา

วันนี้ (11 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ศาลปกครองสูงสุด โดยนายประวิตร บุญเทียม ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ได้เรียกไต่สวนกรณีนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และนักวิชาการด้านสิทธิมุษยชน รวม 13 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็น ในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 โดยการไต่สวนครั้งนี้เพื่อศาลจะพิจารณาว่าจะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณามีคำวินิจฉัยหรือไม่ และจะมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศ กกต. และรายการ “7 สิงหาประชามติร่วมใจ” ที่กำลังออกอากาศไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือไม่ ทั้งนี้ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนำโดยนายจอน ผู้อำนวยการไอลอว์, นายเอกชัย ไชยนุวัฒน์ นักวิชาการ, นางศรีประภา เพชรมีศรี ผู้ฟ้องคดี ขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องมีนายชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฏหมายและคดี สำนักงาน กกต. นายพัฒนพงษ์ กัลลประวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ เป็นตัวแทน กกต.เข้าชี้แจงต่อศาล

หลังการไต่สวนนานกว่า 4 ชั่วโมง นายเอกชัยกล่าวว่า ในการไต่สวนครั้งนี้อยากให้ศาลรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจาณณา เพราะประชามติครั้งนี้มีความสำคัญต่อประชาชนทุกคน เราจึงถือเป็นผู้เดือดร้อนเสียหายจากประกาศ กกต.ดังกล่าว ส่วนที่ขอให้ศาลระงับการบังคับใช้ประกาศ กกต.ไว้ก่อนเนื่องจากปิดกั้นการแสดงออกโดยในชั้นไต่สวนผู้แทนของ กกต.ให้ถ้อยคำต่อศาลว่าประกาศ กกต.เป็นเพียงคำแนะ หากไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีโทษทางอาญา แต่ถ้าทำผิดประกาศ กกต.แล้วไปเข้ามาตรา 61 วรรคสองของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติฯ ก็จะมีโทษทางอาญา ซึ่งทางผู้ฟ้องคดีก็ได้ให้ข้อมูลล่าสุดต่อศาลเป็นกรณีที่มีการจับกุมนักศึกษาและผู้สื่อข่าวที่ จ.ราชบุรี ในความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยศาลก็รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงซักถามผู้แทน กกต.เรื่องการรณรงค์ใส่เสื้อ แจกสติกเกอร์ว่าทำได้หรือไม่ ทาง กกต.ก็ยืนยันว่าทำได้แต่อย่าให้เข้าข่ายความผิดตามมาตราดังกล่าว

ส่วนเรื่องขอให้ศาลพิจารณาสั่งระงับการออกอากาศ “รายการ 7 สิงหา ประชามติร่วมใจ” ก็ข้อมูลต่อศาลว่า กกต.ไม่มีหน้าที่จัดรายการเอาใครมาออกรายการ การที่นำ สนช.และ กรธ.มาออกเป็นการแสดงความเห็นไม่ครบถ้วน ขัดต่อหลักประชามติ จึงขอให้ศาลพิจารณา เพราะถ้ากระบวนการประชามติไม่ชอบธรรม ผลที่ได้ก็จะไม่ชอบธรรมไปด้วย

“เรายืนยันว่าการมาฟ้องไม่ได้มีอคติกับ กกต. แต่คิดว่าประกาศ กกต.ลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเวลานี้เหลืออีก 28 วันจะมีการออกเสียงประชามติ ก็อยากให้ทุกฝ่ายมีความมั่นคงทางกฎหมายว่า การแสดงความคิดเห็นใด ไม่เป็นความผิดทางกฎหมาย

ด้านนายจอนกล่าวว่า กกต.ยืนยันว่าการรณรงค์รับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญทำได้ แต่ต้องไม่เข้าเงื่อนไขการกระทำข่มขู่ ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดมทางการเมใอง ซึ่งเราเห็นว่าการจำแนกให้ขัดมันยากทำให้ประชาชนไม่กล้าที่แสดงออกเพราะไม่รูว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าผิดหรือไม่ผิด จึงขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทั้งนี้เห็นว่าการทำประชามติประชาชนจะต้องเข้าใจในสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพื่อจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจ จึงต้องเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นทั้งสองฝ่าย แต่ปัจจุบันความเห็นต่างทำไม่ได้ มีการจับกุม ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลในการตัดสินใจ ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้การออกเสียงประชามติก็จะไม่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงในอนาคตได้ ซึ่งในการไต่สวนตนก็ได้นำเอกสารความเห็นแย้งที่จัดทำโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่มอบให้แก่ศาลด้วย โดยศาลก็บอกว่าจะเร่งพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว






กำลังโหลดความคิดเห็น