ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เร่งประชาสัมพันธ์โค้งสุดท้ายประชามติ แต่ยังไม่รู้ยอดคนใช้สิทธิถึงตามเป้าหรือไม่ ไม่กังวลศาลปกครองสูงสุดไต่สวนคำฟ้องไอลอว์ขอถอนประกาศ กกต. บอกคำวินิจฉัยศาล รธน. มีผลผูกพันทุกองค์กรอยู่ เมื่อไม่ขัด กม. ก็ไม่ต้องกังวล ด้าน “สมชัย” นัดคุย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ พุธนี้ โยน กรธ. ดูความเห็นแย้งของประชาธิปไตยใหม่เท็จบรรทัดไหน ถ้าพบแล้วแจ้งก็พร้อมดำเนินคดีให้ทันที
วันนี้ (10 ก.ค.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำหรับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันออกเสียงประชามติ ทาง กกต. ก็จะเร่งการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ผ่านทุกช่องทาง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในการออกมาลงคะแนนเสียงประชามติ ส่วนยอดผู้มาใช้สิทธิออกเสียงครั้งนี้ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ กกต. ตั้งไว้หรือไม่ ตนยังไม่รู้ แต่ในฐานะ กกต. ก็จะพยายามรณรงค์อย่างเต็มที่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจความพร้อมตามจังหวัดต่าง ๆ ตนก็ได้รับการยืนยันจากประชาชนด้วยว่าจะออกมาใช้สิทธิในวันที่ 7 สิงหาคม นี้ อย่างแน่นอน และหลังจากนี้ไป กกต. จะเร่งทยอยจัดส่งจุลสารการออกเสียงประชามติ หรือ บุ๊กเล็ต ไปตามครัวเรือนต่าง ๆ เพื่อจะได้เป็นข้อมูลต่อการตัดสินใจลงประชามติ ส่วนประชาชนจะออกเสียงทิศทางใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละคน
นายศุภชัย กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุด เตรียมนัดไต่สวนกรณีที่กลุ่มโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 ว่า ส่วนตัวไม่มีความกังวล เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กรอยู่แล้ว และประการสำคัญประกาศฉบับนี้เขียนขึ้นโดยลอกมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 จึงไม่จำเป็นต้องมีความกังวลแต่อย่างใด
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 13 ก.ค. นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะหารือร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่มีความพยายาม โทร.ประสาน เพื่อให้หารือร่วมกันสองฝ่ายเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยส่วนตัวมีข้อเสนอสองประเด็น คือ 1. แนวทางในการที่จะส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้เนื้อหาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงในเวลาที่เหลืออยู่ 2. แนวทางสร้างบรรยากาศส่งเสริมประชาชนตื่นตัวแสดงความเห็นต่อสาธารณะภายใต้หลักการที่ว่าไม่เท็จ ไม่หยาบคาย และไม่ปลุกระดม ส่วนประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว แต่จะหยิบยกขึ้นมาว่ามีข่าวอะไรแต่ละฝ่ายเห็นอย่างไร
สำหรับประเด็นเล่มความเห็นแย้งที่จัดทำโดยกลุ่มนักศึกษานั้น นายสมชัย กล่าวว่า ตนมีความเห็นเบื้องต้นไปแล้วว่าไม่หยาบคาย ไม่ปลุกระดม แต่จะมีข้อความเท็จหรือไม่ กรธ. ต้องเป็นฝ่ายชี้ว่าหน้าไหนบรรทัดไหนเป็นเท็จ หากแจ้งเป็นทางการต่อ กกต. ก็พร้อมที่จะดำเนินคดีทันที โดยให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการ แต่ถ้าล่าช้าตนอาจจะดำเนินคดีส่วนตัวก็ได้ โดยหลังพบกันในวันพุธนี้จะชัดเจนว่า กกต. ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หาก กรธ. รวบรวมข้อมูลแล้ว พบว่า มีกรณีใดที่เป็นเท็จแล้วแจ้งต่อ กกต. ก็พร้อมดำเนินคดีให้
นอกจากนี้ นายสมชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีทหารออกไปชี้นำให้ประชาชนภาคเหนือ และภาคอีสาน รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่หากประชาชน หรือผู้ใดพบเห็นการกระทำลักษณะดังกล่าว ก็สามารถแจ้งเรื่องมาที่ กกต. หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชันตาสับปะรดเข้ามาได้ เพื่อ กกต. จะได้ไปดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการดำเนินการจริงก็จะเข้าข่ายผิดกฎหมายได้