อีสท์วอเตอร์ห่วงภาคตะวันออกเสี่ยงน้ำขาดแคลนในปีหน้าหลังฝนตกล่า เผยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งไม่ถึง 40% รอลุ้นฝนตกลงอ่างฯ ในช่วง ต.ค.นี้ ขณะที่โครงการวางท่อประแสร์-หนองปลาไหลเตรียมทดสอบระบบ คาดช่วยเพิ่มน้ำในมาบตาพุด และจ่อขอขึ้นราคาค่าน้ำดิบ
นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ (EASTW) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ระยอง เช่น อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย และคลองใหญ่ มีปริมาณน้ำไม่ถึง 40% ของความจุอ่าง เนื่องจากฝนตกล่าช้า
และปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วงนี้ก็ไม่เข้าอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ทำให้มีความเสี่ยงที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะน้อยกว่าทุกปี แต่คงต้องรอสิ้นเดือน ต.ค.นี้จึงจะมีความแน่ชัดเกี่ยวกับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแนวทางการดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม โครงการวางท่อส่งน้ำประแสร์-หนองปลาไหล เส้น 2 เตรียมทดสอบผันน้ำเข้าระบบในต้นเดือน ต.ค.นี้ ล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่วางไว้เกือบ 2 เดือนเนื่องจากติดปัญหาการจ่ายไฟของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยจะผันน้ำประแสร์ไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำ ทำให้ปีหน้าพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองน่าจะมีน้ำดิบใช้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนพื้นที่ชลบุรีนั้นยังมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหนองค้อยังน้อยอยู่ โดยบริษัทพยายามเร่งสูบน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมาเก็บไว้ที่อ่างอยู่
ส่วนโครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำทับมานั้น ต้องชะลอการแล้วเสร็จออกไป 1 ปีจากเดิมปลายปีนี้เป็นปลายปี 2560 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องทางสาธารณะที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำว่าผิดกฎหมายหรือไม่
นายเจริญสุขกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้มีโครงการวางท่อส่งน้ำเสร็จหลายโครงการ ทำให้บริษัทมีภาระค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าเสื่อมราคาจากโครงการวางท่อส่งน้ำประแสร์-หนองปลาไหล เฉลี่ยปีละ 70-80 ล้านบาท ดังนั้นจึงเตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ เพื่อพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าน้ำดิบ ส่วนจะปรับขึ้นหรือไม่นั้นคงต้องรอการตัดสินใจจากบอร์ดฯ ต่อไป
สำหรับปริมาณการขายน้ำดิบในปีนี้คาดว่าจะใกล้เคียงปีที่แล้วอยู่ที่ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เนื่องจากปริมาณน้ำในฝั่งชลบุรีน้อยทำให้ยอดขายน้ำลดลงไป ส่วนปีหน้าตั้งเป้าหมายปริมาณการขายน้ำดิบจะเพิ่มขึ้น 4-5% จากปีนี้
ส่วนแผนการลงทุนในอนาคต บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการวางท่อส่งน้ำจากคลองหลวง-บ่อวิน จ.ชลบุรี ระยะทาง 70 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 2.2 พันล้านบาท เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอรองรับการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะมีนิคมฯ เกิดขึ้นใหม่ ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 100 ล้านลูกบาศก์เมตรภายใน 10 ปีข้างหน้า