“อีสท์ วอเตอร์” เร่งซื้อน้ำสำรองจากบ่อดินเอกชนป้อนพื้นที่ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี ที่ขาดน้ำแคลนน้ำเล็กน้อย 7 ล้าน ลบ.ม. มั่นใจผ่านแล้งนี้ไปได้ เผยปีนี้ปริมาณการขายน้ำดิบและประปาโตพลาดเป้า จากเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมเร่งศึกษาความเป็นไปได้วางท่อส่งน้ำจากคลองใหญ่ไปกลุ่มคลัสเตอร์ที่บ่อวิน-ปลวกแดง คาดใช้เงินพันล้านบาท
นายเจริญสุข วรพรรณโสภาค รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฏิบัติการ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ (EASTW) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกโดยรวมไม่น่าเป็นห่วง ยกเว้นในพื้นที่จังหวัดชลบุรี และฉะเชิงเทรา ที่ยังขาดแคลนเล็กน้อยในช่วงแล้งนี้ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เนื่องจากแล้งหนักทำให้น้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมีปริมาณลดลง โดยบริษัทฯ ได้ทยอยทำสัญญาระยะสั้นซื้อน้ำจากบ่อดินเอกชน 5-8 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่มีการทำสัญญาซื้อน้ำสำรองจากบ่อดินเอกชนระยะยาว 15 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ในช่วง เม.ย.นี้โครงการวางท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล-หนองค้อ 2 จะแล้วเสร็จทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเพื่อส่งจ่ายไปยังผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภคในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา รวมทั้งในช่วง ก.ค.-ส.ค.คาดว่าจะสามารถสูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกงมาใช้ได้เพราะฝนน่าจะตกทำให้น้ำจากแม่น้ำเป็นน้ำจืดจากขณะนี้เป็นน้ำกร่อย
นอกจากนี้ ในปี 2559 ยังมีโครงการใหม่ที่จะแล้วเสร็จเพิ่มเติม ได้แก่ โครงการพัฒนาอ่างเก็บน้ำทับมา ใช้เงินลงทุน 465 ล้านบาท เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนให้แก่พื้นที่ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2559 และโครงการวางท่อส่งน้ำประแสร์-หนองปลาไหล เงินลงทุน 500 ล้านบาท แล้วเสร็จในกลางปีนี้
สำหรับแผนการลงทุน 5 ปีนี้ บริษัทฯ ยังศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการวางท่อส่งน้ำจากคลองหลวงไปยังพื้นที่คลัสเตอร์ทั้งบ่อวิน จ.ชลบุรี และอ.ปลวกแดง จ.ระยอง คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาทเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในนิคมฯ ใหม่ด้วย
นายเจริญสุขกล่าวต่อไปว่า ในปีนี้บริษัทฯ คาดว่าปริมาณการขายน้ำดิบและน้ำประปาจะสูงขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 310 ล้าน ลบ.ม.จากปีก่อนอยู่ที่ 300 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายการโตเดิมที่วางไว้ 8% เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ภาคเอกชนยังไม่ตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน บริษัทได้ชะลอการปรับขึ้นราคาขายน้ำดิบสำหรับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ออกไปก่อนจากภาวะเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย แม้ว่าบริษัทฯมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการสูบผันน้ำ ค่าเสื่อมและดอกเบี้ยจ่ายจากโครงการลงทุนใหม่ก็ตาม
ในปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งมาเร็วและคาดว่าน่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 4 แห่ง มีน้ำใช้ได้รวม 2,945 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% แบ่งเป็นเขื่อนภูมิพล 811 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 1,459 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 290 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 385 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะเพียงพอถึงเดือนมิถุนายน 2559 ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่ระยอง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ดอกกราย คลองใหญ่ และประแสร์ มีปริมาณน้ำรวมอยู่ที่ 211.59 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73.3% มากกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4% หากฝนไม่ตกปริมาณน้ำนี้จะสามารถใช้ได้ไปอีก 7 เดือน สำหรับอ่างเก็บน้ำบางพระ และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ ในพื้นที่ชลบุรี มีปริมาณน้ำอยู่เพียง 41.97 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30.3% ของความจุอ่างทั้งหมด ต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.6%