ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 มั่นใจสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกไม่ขาดแคลน ทั้งภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม หลังได้รับอิทธิพลจากพายุหว่ามก๋อที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้นมีมากกว่า 60% พร้อมมีแผนการผันน้ำระหว่างอ่างฯ และเสริมคันสปริงเวย์ด้วย มั่นใจมีเพียงพอไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน แต่ควรใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อแล้งหน้าด้วย
นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาคตะวันออกขณะนี้ถือว่าปกติ และนับว่าโชคดีกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากปีที่ผ่านมา ได้รับอิทธิพลจากพายุหว่ามก๋อ มาตกในพื้นที่ภาคตะวันออก และไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำต่างๆ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯ เพิ่มมากขึ้น และเพียงพอ โดยที่ผ่านมา ทางชลประทานมีแผนงานจะลดพื้นที่การใช้น้ำก่อนจะสิ้นสุดฤดูฝน แต่ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูแล้งได้รับอิทธิพลจากพายุดังกล่าวทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าสำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 40% จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 91% จ.ตราด มีปริมาณน้ำ 89% จ.สระแก้ว มีปริมาณน้ำ 22%จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 64% จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำ 42% จ.จันทบุรี มีปริมาณน้ำ 92% และ จ.ปราจีนบุรี มีปริมาณน้ำ 90%
โดยทั้งภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำทั้งสิ้น 63% ของความจุกักเก็บ โดยถือว่าอยู่ในสถานการณ์ปกติ ส่วนจังหวัดที่มีน้ำน้อยที่สุดคือ จ.สระแก้ว ซึ่งที่หวั่นจะได้รับผลกระทบนั้นขณะนี้ได้วางแผนกับการประปาส่วนภูมิภาคในพื้นที่ ให้ไปใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง วันละ 10,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะเพียงพอถึงเดือน มิ.ย. โดยจะไม่ปัญหา หรือส่งผลกระทบแต่อย่างใด
สำหรับด้านโรงงานอุตสาหกรรม โดยจุดหลักๆ อยูในพื้นที่จังหวัดระยอง มีโรงงานที่ใช้น้ำเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีปัญหาภัยแล้งแต่อย่างใด เนื่องจากมีการวางระบบการผันน้ำเกือบสมบูรณ์แล้ว เช่น มีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาที่อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ได้ปีละ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร
นอกจากนั้น จากอ่างฯ คลองใหญ่ สามารถรวมกับอ่างฯ ดอกกราย และหนองปลาไหล จัดสรรให้แก่ภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองได้ทั้งหมด รวมทั้งยังส่งน้ำมากักเก็บที่อ่างหนองค้อ จ.ชลบุรี เพื่อส่งให้กับผู้อุปโภคบริโภคของ จ.ชลบุรีในบางพื้นที่ด้วย
ส่วนบางนิคมอุตสาหกรรมใน จ.ชลบุรี ก็ไม่ได้พึ่งพาน้ำของชลประทานเท่าที่ควร โดยมีการเช่าพื้นที่ของเอกชนที่ขุดดินไปขาย และกลายเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ โดยได้นำน้ำส่วนนี้มาใช้ภายในโรงงาน นอกจากนั้น ยังมีการซื้อน้ำจากบริษัทเอกชนไปใช้ในบางส่วนด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับแผนงานในการป้องกันการขาดแคลนน้ำนั้น ทางชลประทานมีแผนงาน เช่น การผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา มากักเก็บที่อ่างฯ บางพระ แต่จะผันได้เฉพาะในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ดังนั้น จึงมีโครงการสร้างสถานีสูบน้ำที่คลองพานทอง จ.ชลบุรี เพื่อเติบน้ำเข้าเส้นท่อนี้ในช่วงฤดูแล้ง โดยนำน้ำดังกล่าวมาเติมลงในอ่างฯ บางพระ ซึ่งจะทำให้สามารถผันน้ำในช่วงฤดูฝน และฤดูแล้ง
สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำพานทองนั้น หากโครงการดังกล่าวเสร็จคาดว่าประมาณปี 2559 นี้ สามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ และปัญหาน้ำท่วมขังในบางพื้นที่ในเขตอำเภอพนัสนิคม พื้นที่อำเภอเมืองชลบุรีบางส่วน เนื่องจากในช่วงฤดูฝนในคลองพานทอง จะมีน้ำไหลทิ้ง ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร หากนำน้ำดังกล่าวมาเก็บได้ที่อ่างฯ บางพระก็จะเกิดประโยชน์เนื่องระยะทางใกล้ประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบ หากเทียบกับสูบมาจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา ที่ไกลกว่ามาก
นอกจากนั้น มีโครงการเสริมสันสปริงเวย์เพื่อเพิ่มความจุในอ่างเก็บน้ำให้สูงขึ้น เช่น ที่อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และอ่างฯ คลองใหญ่ ส่วนที่อ่างฯ ดอกกราย ได้เสริมเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาคเอกชน คือ บริษัท อีสท์วอเตอร์ ได้สูบน้ำจากแม่น้ำบางปะกง ปีละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงมั่นใจว่าปัญหาน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับในปีนี้มีน้ำอย่างเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องการให้พี่น้องประชาชนใช้น้ำกันอย่างประหยัด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งให้ทราบว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ตอนนี้จะลดกำลังลงไปแล้ว และจะสิ้นสุดประมาณเดือน พ.ค. และจากเดือน พ.ค.ไปถึงเดือน มิ.ย.ยังเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งอาจจะทำให้ช่วงต้นฤดูฝนจะทำให้ฝนตกช้า อาจจะส่งผลกระทบขาดแคลนน้ำในช่วงดังกล่าว ดังนั้น จึงควรประหยัดในช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย