xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ ชี้ปริมาณน้ำจาก 6 อ่างเก็บน้ำหลักเมืองพัทยาเพียงพอ แต่ยังต้องใช้อย่างประหยัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หลายหน่วยงานร่วมถก แก้ปัญหาน้ำในเมืองพัทยา
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมชลฯ ชี้น้ำอุปโภคบริโภคในเมืองพัทยาจาก 6 อ่างหลักยังเพียงพอผ่านพ้นวิกฤตไปถึง ต.ค. แต่ต้องประหยัด ขณะที่การประปาวางแผนบริหารจัดการน้ำใหม่เพื่อรอฝน ชี้หากจำเป็นอาจต้องหยุดจ่ายน้ำฝั่งตะวันออกบางช่วง

วันนี้ (4 ส.ค.) เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอำเภอบางละมุง สำนักชลประทานที่ 9 ชลบุรี การประปาส่วนภูมิภาคเมืองพัทยา บริษัท จัดการและบริหารทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัดหรืออีสท์วอเตอร์ และตัวแทนภาคธุรกิจ เข้าร่วมประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำอุปโภคบริโภคเมืองพัทยาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี นายชาคร กัญจนวัตตะ นายอำเภอบางละมุง เป็นประธาน หลังเกิดกระแสวิกฤตการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เมืองพัทยา

นายชาคร กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกระแสข่าวเกี่ยวกับวิกฤตภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในเขตเมืองพัทยาช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ จนเกิดความหวั่นวิตกว่าอาจจะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการเกษตร จึงได้เรียกตัวแทนจากส่วนงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

ด้าน นายบุญสม ยุติธรรมภิญโญ ตัวแทนจากสำนักชลประทานที่ 9 ชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันน้ำในอ่างเก็บน้ำชลบุรีทั้ง 6 อ่างหลัก ที่ส่งน้ำมายังเมืองพัทยา ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำชากนอก อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำหนองกลางดง อ่างเก็บน้ำห้วยสะพาน และอ่างเก็บน้ำห้วยขุนจิต มีปริมาณน้ำรวม 15.30 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 40 ล้าน ลบ.ม.หรือร้อยละ 40 ซึ่งถือว่าดีกว่าปีที่ผ่านมา และเพียงพอเพื่อรองรับการใช้น้ำไปได้ถึงช่วงสิ้นเดือน ต.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ถือเป็นช่วงฤดูฝนเริ่มมีฝนตกโปรยปรายลงมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 32% แต่ก็ทำให้มีน้ำดิบไหลลงสู่อ่างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะอ่างมาบประชัน ที่ถือเป็นอ่างเก็บน้ำหลักของเมืองพัทยา สัปดาห์ที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำ 3.8 ล้าน ลบ.ม.แต่ปัจจุบันมี 4.07 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าทรงตัว

ขณะที่แหล่งน้ำดิบอื่นๆ ที่ส่งจ่ายเข้าสู่ระบบผลิตประปาของพัทยา อย่างอ่างหนองปลาไหล จ.ระยอง มีน้ำสูงกว่า 60% และสูงขึ้นต่อเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างสม่ำเสมอ จึงมีการส่งน้ำผ่านระบบของอีสท์วอเตอร์เข้าสู่เมืองพัทยาอย่างเต็มความสามารถ

อ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งผันมาช่วยพัทยาเช่นกันนั้นปัจจุบันมีน้ำเหลืออยู่เพียง 17.82 ล้าน ลบ.ม. จึงต้องชะลอการจ่ายออกไประยะหนึ่ง แต่ในอนาคตอันใกล้ช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ น้ำจืดก็จะหนุนดันน้ำเค็มที่ลุ่มน้ำบางปะกงมาอยู่ในพื้นที่ชลบุรี ซึ่งจะสามารถสูบผ่านระบบท่อที่วางไว้มาเติมลงยังอ่างบางพระ ก่อนผันมาสู่เมืองพัทยาได้ ขณะที่ฝนก็จะตกลงมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อผสมรวมกับฝนหลวงก็คาดว่าปีนี้จะไม่ประสบปัญหาแน่นอน

นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา ระบุว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาใช้น้ำประปาอยู่ที่เกณฑ์เฉลี่ย 215,000 ลบ.ม./วัน โดยใช้น้ำดิบจาก 6 อ่างในสัดส่วน 60% ของการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำน้อยกว่าเกณฑ์อยู่ที่ 15 ล้าน ลบ.ม. หรือ 40% จึงต้องบริหารจัดการให้เพียงพอเพื่อยืดระยะเวลาการใช้ จนกว่าจะมีฝนตกลงมาตามฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนกว่า 40% ที่ซื้อน้ำจากอีสท์วอเตอร์เพื่อเข้าสู่ระบบการผลิตนั้น มีการปรับลดปริมาณลงจากเดิมที่รับน้ำอยู่ที่ 7.7 หมื่น ลบ.ม./วัน เหลือเพียงวันละ 3.8 หมื่น ลบ.ม. เนื่องจากต้องผันน้ำไปช่วยในชลบุรี กรณีนี้จึงจำเป็นต้องใช้น้ำต้นทุนจาก 6 อ่าง ซึ่งจะส่งผลให้ระยะเวลาการใช้ลดลงไปเช่นกัน

ปัจจุบัน เริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งฝนธรรมชาติ และฝนหลวง ทำให้สถานการณ์น้ำเริ่มทรงตัว ซึ่งจะสามารถยืดระยะเวลาไปได้ อีกทั้งในเวลาอันใกล้นี้จะมีการสูบน้ำดิบมาจากแม่น้ำบางปะกง เข้ามาเสริมด้วย จะทำให้ปัญหาเบาบางลง แต่ก็ยังต้องจัดแผนสำรองไว้ทั้งมาตรการการลดจ่ายน้ำในฝั่งตะวันออกในบางช่วงเวลา หากฝนตกลงมาน้อยกว่าปกติ

รวมทั้งการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าอีกหนทางหนึ่ง แต่ก็คงไม่อยากให้ประชาชนหวาดวิตกกังวล เพราะจากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณฝนจะตกต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นไป เมื่อรวมกับการจัดทำฝนหลวงก็คาดว่าปริมาณน้ำดิบจะเพิ่มสูงขึ้น

นายสุทัศน์ กล่าวว่า ส่วนในอนาคตได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงกับกรมชลประทาน วางท่อส่งน้ำเพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ และหนองปลาไหล มาเพิ่มเป็นคู่ขนานกับระบบของอีสท์วอเตอร์ ที่จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2559 ซึ่งจะทำให้เมืองพัทยาได้น้ำดิบเพิ่มขึ้นอีกปีละ 40 ล้าน ลบ.ม. โดยเมื่อรวมกับน้ำต้นทุนจาก 6 อ่างหลัก ที่มีความจุอีก 40 ล้าน ลบ.ม. จะทำให้เมืองพัทยามีน้ำดิบรวม 80 ล้าน ลบ.ม./ปี ขณะที่การใช้น้ำอยู่ที่ 70 ล้าน ลบ.ม./ปี ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปริมาณที่สูงสุดของประเทศ แต่ก็ยังถือว่าเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคแน่นอน
สถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง แต่ต้องร่วมใจใช้น้ำประหยัด
กำลังโหลดความคิดเห็น