xs
xsm
sm
md
lg

“พัทยา” หวั่นวิกฤตภัยแล้งหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - “พัทยา” หวั่นวิกฤตภัยแล้ง ด้านประปาแจงสถานการณ์หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลหลังสิงหาคมนี้อ่วมแน่ พร้อมเร่งประสานศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือด่วน

วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ห้องประชุมที่ทำการเทศบาลเมืองหนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ว่าที่ ร.ต.ปราโมทย์ ทับทิม รองปลัดเทศบาลเมืองหนองปรือ เป็นประธานการประชุมร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก อำเภอบางละมุง สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา อาสาสมัครฝนหลวง และตัวแทนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางละมุง เพื่อติดตาม และหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ หลังพบว่า ปัจจุบันปัญหาภัยแล้งเริ่มส่อเค้าความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนส่งผลกระทบไปถึงภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
“พัทยา” หวั่นวิกฤตภัยแล้ง หากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
นายพิเชษฐ์ ธรรมโหร ปลัดอำเภอบางละมุง กล่าวว่า สำหรับอำเภอบางละมุงถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางด้านกายภาพ เนื่องจากมีทั้งในส่วนของภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องอาศัยน้ำในการอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก และจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันพบว่า เริ่มส่อเค้าความรุนแรงมากยิ่งขึ้น จนเริ่มส่งผลต่อภาคการเกษตร เนื่องจากพื้นที่อำเภอบางละมุง มีนาข้าวกว่า 2,170 ไร่ สวน 22,000 ไร่ ไร่มันสำปะหลัง และไร่สับปะรดกว่า 6 หมื่นไร่

หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปเช่นนี้ และไม่มีฝนตกตามฤดูกาลก็อาจจะส่งผลต่อเนื่องไปถึงผลผลิตในอนาคต ขณะที่สถานการณ์น้ำดิบล่าสุดจากการประสานงานร่วมกับการประปาพัทยา พบว่าเริ่มอยู่ในขั้นวิกฤตจึงควรหาทางแก้ไขเร่งด่วน โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก เพื่อจัดทำฝนหลวงแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคพัทยา ระบุว่า ปัญหาภัยแล้งปัจจุบันถือว่าน่าเป็นห่วง เนื่องจากเมืองพัทยาถือเป็นพื้นที่ที่มีการบริโภคอุปโภคน้ำสูงสุดของประเทศถึงปีละกว่า 72 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่แหล่งน้ำดิบนั้นมีปริมาณมวลรวมเพียง 40 ล้าน ลบ.ม. จาก 5 อ่างเก็บน้ำหลัก ได้แก่ มาบประชัน หนองกลางดง ห้วยสะพาน ห้วยขุนจิต และชากนอก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำดิบรวมกันเหลือเพียง 15 ล้าน ลบ.ม.หรือ 40 กว่า% เท่านั้น แต่สามารถใช้น้ำจริงได้เพียง 12 ล้าน ลบ.ม.

จึงทำให้การสูบน้ำเพื่อนำมาผลิตประปาเริ่มมีปัญหา แม้ว่าที่ผ่านมาประปาพัทยาจะซื้อน้ำจาก “อีสท์วอร์เตอร์” มาเสริมจากจังหวัดระยอง และจากประปาสัตหีบ ในอัตราเพียง 80,000 ลบ.ม.ต่อวัน หรือเพียง 40% จากการใช้น้ำรวม ซึ่งก็คงไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้น้ำของเมืองพัทยาที่เฉลี่ยสูงถึงวันละ 2 แสน ลบ.ม.
แห่ลงกักเก็บน้ำดิบ ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แผนสำรองฉุกเฉินที่ดำเนินการไว้ว่าจะแก้วิกฤตการณ์ได้อย่างการต่อท่อส่งน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีน้ำล้นฝายทุกปีส่งมายังอ่างเก็บน้ำบางพระ ก่อนส่งต่อน้ำมายังเมืองพัทยานั้นพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการวางท่อที่ยังไม่แล้วเสร็จ

ส่วนแผนการผันน้ำจากคลองใหญ่ ใน จ.จันทบุรี ต่อเชื่อมเข้าอ่างประแสร์ และหนองปลาไหล ใน จ.ระยอง ก่อนส่งต่อมายังเมืองพัทยา ซึ่งจะได้น้ำกว่า 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีนั้น ปัจจุบันมีการทำ Mou กับกรมชลประทานแล้วในงบกว่า 900 ล้านบาท และกำลังดำเนินการสรรหาผู้รับจ้างมาจัดทำ

นายสุทัศน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การประปาพัทยาได้นำเครื่องสูบน้ำไปตั้งทิ้งไว้บริเวณคลองมาบหวายโสม ห้วยใหญ่ น้ำเมา และห้วยยายจีน เพื่อหวังสูบน้ำกลับมาเติมในระบบ แต่ก็พบว่าปริมาณน้ำในคลองมีปริมาณไม่สูงมากนัก จึงร้องขอให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเข้ามาช่วยเหลือในการจัดทำฝนเทียมให้ตกในปริมาณที่มากขึ้นในช่วงนี้ เพื่อเติมน้ำดิบเข้าสู่อ่างหลักที่จะสามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบันได้ และเสริมน้ำให้ได้ 80% ของความจุเพื่อรองรับการใช้น้ำในปี 2559

แต่หากสถานการณ์ของสภาวะอากาศไม่เอื้ออำนวยภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ อาจต้องปรับแผนการจ่ายน้ำใหม่ โดยจำเป็นต้องลดการจ่ายน้ำในพื้นที่ห้วยใหญ่ ชากนอก และเนินพลับหวานต่อไป ซึ่งอาจทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับผลกระทบอยู่บ้าง

น.ส.วาสนา วงศ์รัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก เปิดเผยว่า สำหรับศูนย์ฝนหลวงภาคตะวันออกดูแลพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้น 2 แห่งที่ อู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และ จ.สระแก้ว ในพื้นที่รวมกว่า 26,788 ตารางกิโลเมตร โดยในปีนี้ต้องยอมรับว่าอิทธิพลของ “เอลนีโญ” ส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งลุกลามอย่างรุนแรงทั่วประเทศ ทางศูนย์ฯ จึงต้องออกปฏิบัติการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ซึ่งก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง

สำหรับพื้นที่จังหวัดชลบุรีนั้น ปีนี้ก็พบว่า ประสบปัญหาเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา มีการร้องขอจาก 4 อำเภอเพื่อให้จัดทำฝนหลวงในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ สัตหีบ ศรีราชา บ้านบึง และเกาะสีชัง รวมทั้งพื้นที่ในเขตจังหวัดระยอง ซึ่งก็ทำให้ได้ปริมาณน้ำไหลเข้าสู่อ่างกักเก็บได้จำนวนหนึ่ง เช่น อ่างบางพระ มีน้ำไหลเข้า 0.24 ล้าน ลบ.ม. หนองปลาไหล 8.69 ล้าน ลบ.ม. และประแสร์ 3.98 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตาม ฤดูฝนนี้ยังเหลือระยะเวลาอีกเพียง 2 เดือน ดังนั้น การจะรอเพียงให้มีฝนตามฤดูกาลเพื่อให้น้ำไหลเข้าสู่อ่างตามปกติอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่จะสามารถแก้ภัยแล้ง และรองรับการใช้น้ำได้ถึงปี 2559 ดังนั้น จากการหารือร่วมกัน ทางศูนย์ฯ จึงมีแผนปฏิบัติการในการทำฝนเทียมในพื้นที่ขึ้น โดยในพื้นที่ชลบุรีเองถือว่าได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากมีความชื้นสัมพัทธ์สูงเพราะอยู่ใกล้ทะเล จึงคาดว่าคงจะสามารถโปรยสารเพื่อจัดทำฝนเทียมได้ตามเป้าหมาย และคาดว่าจะต้องมีน้ำไหลลงสู่อ่างกักเก็บให้ได้ในสัดส่วน 80% ของความจุรวม
กำลังโหลดความคิดเห็น