xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ยันชัดไม่ทวงหนี้กลางแล้ง ชป.อุทัยฯ ชง ทภ.3 เร่งงบสูบน้ำสะแกกรัง-เจ้าพระยาเติมเขื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - หลายหน่วยงานเร่งระดมกำลังช่วยชาวบ้านสู้ภัยแล้ง ธ.ก.ส.พิจิตรประกาศชัดถ้ายังไม่มีน้ำทำนา เกษตรกรยังเก็บผลผลิตไม่ได้ ไม่มีทวงหนี้เก่า แถมมีให้กู้เพิ่มอีก 3 ระยะ ด้านกองบิน 46 ขนน้ำแจกชาวพิษณุโลกต่อเนื่อง ด้าน ชป.อุทัยฯ ชง ทภ.3 ดันงบต่อท่อสูบน้ำสะแกกรัง-เจ้าพระยา เติมเขื่อนวังร่มเกล้าแก้แล้งยั่งยืน

วันนี้ (15 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้หลายหน่วยงานในภาคเหนือยังคงต้องระดมกำลังช่วยเหลือเกษตรกรต่อสู้ภัยแล้งกลางฤดูฝนที่ยังคงลุกลามจนทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำทำนา ชาวบ้านไม่มีน้ำอุปโภค บริโภคอย่างต่อเนื่อง
โดยที่จังหวัดพิจิตรที่ประกาศให้พื้นที่ 10 อำเภอทั่วจังหวัดเป็นเขตภัยพิบัติแล้งแล้วนั้น นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร, นายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส. ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนล่าง, พ.อ.ชัยเดช สุระวดี รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ประจำพื้นที่ จ.พิจิตร ได้ลงพื้นที่จัดการประชุมชี้แจงถึงนโยบายในการช่วยเหลือชาวนา พร้อมกับแจกน้ำดื่ม 500 แพก ขณะที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 ก็นำรถบรรทุกน้ำ 3 คัน ปริมาณน้ำ 20,000 ลิตร มาแจกจ่ายแก่ราษฎรที่ต้องการน้ำสะอาดได้นำไปอุปโภค-บริโภคด้วย

นายศรายุทธกล่าวว่า นับจากวันนี้ไปถ้าฝนยังไม่ตก หรือชาวนายังไม่สามารถลงมือปลูกข้าว หรือเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ธ.ก.ส.จะไม่ทวงหนี้เก่าให้ชาวนาต้องเครียดอย่างเด็ดขาด ส่วนการที่มีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ไปแวะเยี่ยมเยียนตามบ้านของเกษตรกรก็เป็นการไปให้คำปรึกษา

ส่วนแนวทางช่วยเหลือชาวนา ได้แบ่งความช่วยเหลือเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ช่วงนี้สามารถกู้ได้รายละไม่เกิน 10,000 บาท 3 เดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระหนี้ 12 เดือน, ระยะกลาง มีสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูนำเงินไปลงทุนในอาชีพหลังจากประสบภัยแล้ง มีวงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 20,000 บาท และการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องภัยแล้งในระยะยาว ก็จะให้กู้ในวงเงินรายละไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งอาจจะนำไปขุดสระ หรือเจาะบ่อน้ำบาดาล

ส่วนชาวนาพิจิตรที่ทำ “ประกันภัยนาข้าว” แล้วจ่ายเบี้ยประกันเพียงแค่ไร่ละ 80-90 บาท (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เสี่ยงภัย) โดยรัฐบาล ธ.ก.ส.ช่วยจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่ง จะได้เงินจากการทำประกันดังกล่าวไร่ละ 1,111 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนพื้นที่ทำประกันเท่าไหร่ได้เท่านั้น นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศมาแล้วว่าจะช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกไร่ละ 1,113 บาท แต่มีสิทธิ์ได้ไม่เกิน 30 ไร่ โดยสรุปถ้าทำนาไม่เกิน 30 ไร่ ก็จะได้ไร่ละ 2,224 บาท ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่นาวาอากาศเอก ฐากูร นาครทรรพ ผู้บังคับการกองบิน 46 ก็ได้สั่งการให้ นาวาอากาศโท เสนีย์ เพชรจรุงพร หัวหน้าแผนกกิจการพลเรือน กองบิน 46 นำน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 18,000 ลิตร และน้ำดื่ม จำนวน 50 แพก ออกแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย บ้านห้วยกอก หมู่ที่ 1 ต.ห้วยเฮี๊ยะ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก หลังได้รับแจ้งว่าชาวบ้านขาดแคลนน้ำจากภัยแล้ง และจะนำน้ำไปแจกให้ชาวบ้านหมู่ที่ 9, 10 ต.ห้วยเฮี๊ยะ ในครั้งต่อไปด้วย

นายบุญเริง สุดแก้ว อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 ม.1 ต.ห้วยเฮี๊ยะ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก บอกว่า ปีนี้ฝนมาช้า ทั้งที่ควรมีฝนตกบ้าง ล่าสุดกลางเดือนกรกฎาคมแล้วฝนยังไม่ตก คลองห้วยกอกแห้งขอดเหลือแต่ทรายจนไม่สามารถดึงน้ำมาทำน้ำประปาหมู่บ้านได้ ชาวบ้านในหมู่บ้านต้องนำรถยนต์ไปหาตักน้ำตามห้วยหนองคลองบึงมาใช้ในการอุปโภค ส่วนน้ำที่ใช้บริโภคก็ต้องซื้อน้ำถังและใช้อย่างประหยัดมานานกว่า 2-3 เดือนแล้ว

นาวาอากาศโท เสนีย์กล่าวว่า กองบิน 46 จะนำรถบรรทุกน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคออกแจกจ่ายแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนในพื้นที่ใดที่ประสบภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำต้องการความช่วยเหลือสามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบิน 46

ด้านนายสมชาย เลิศพงศ์ภากรณ์ ผู้ว่าฯ อุทัยธานี พร้อมด้วยผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุทัยธานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าของการก่อสร้างโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเติมเขื่อนวังร่มเกล้าด้วยระบบท่อสูบน้ำและท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดท่อเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร

นายสมชายกล่าวว่า โครงการสูบน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลย้อนเข้าแม่น้ำสะแกกรังทางประตูระบายน้ำตามรอยเสด็จประพาสต้น ไปยังโครงการแก้มลิงโครงการตามแนวพระราชดำริเหนือเขื่อนวังร่มเกล้าพื้นที่ 3,600 ไร่ กักเก็บน้ำได้ 24 ล้านลูกบาศก์เมตร ได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2553-2555 ขณะนี้เสร็จแล้วประมาณ 11 กิโลเมตร และยังขาดอีกกว่า 4 กิโลเมตร จะถึงเขื่อนวังร่มเกล้า

แต่ขาดงบประมาณ 130 ล้านบาท โดยทราบว่าตอนนี้ทางโครงการชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณมาอีก 80 ล้านแล้ว ยังขาดอีกประมาณ 50 ล้าน ถ้าได้มาครบภายในปี 2559 นี้เชื่อว่าจะมีน้ำไปยังเขื่อนวังร่มเกล้าและทำให้มีประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนชาวเกษตรกรอย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรได้อีกจาก 4 หมื่นไร่ เป็น 79,000 ไร่

โดยต่อจากนี้จะให้ทางชลประทานจังหวัดอุทัยธานีได้สรุปแนวทางปัญหา นำเรียนผู้บังคับบัญชาและรายงานไปยังแม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อที่จะให้ช่วยผลักดันงบประมาณในปี 2559 นี้ เพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้นซึ่งจะแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน









กำลังโหลดความคิดเห็น