xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจ่อชง “กพช.” ปรับ FiT ใหม่ มุ่งเป้าแสงอาทิตย์หลังต้นทุนลดหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม
กระทรวงพลังงานเผยเตรียมเสนอ “กพช.” ปรับสูตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ให้สะท้อนต้นทุนที่ลดต่ำ โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์แย้มอาจลดได้ถึง 1 บาทต่อหน่วย “กกพ.” เผยเอกชนเริ่มสนใจผลิตไฟจากลมเพิ่มขึ้นหลังพบศักยภาพลมในไทยใช้ได้

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็วๆ นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอการทบทวนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed-in Tariff (FiT) ให้เหมาะสมกับต้นทุนปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดต่ำลงจากอดีตค่อนข้างมาก

“คงจะต้องปรับให้เหมาะสมเพราะ FiT กรณีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อดีตเป็นการรับซื้อแบบอัตราส่วนเพิ่ม หรือ ADDER 8 บาทต่อหน่วย และเมื่อเปลี่ยนเป็น FiT สำหรับโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) FiT จะอยู่ที่ประมาณ 5.66 บาทต่อหน่วย แต่ปัจจุบันต้นทุนลดไปมากซึ่งอัตรานี้สามารถปรับได้โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงอย่างน้อย 1 บาทต่อหน่วย ส่วนตัวเลขและรายละเอียดที่ชัดเจนคงต้องรอ กพช.ก่อน ส่วนพลังงานลมนั้นแม้ว่าจะมีต้นทุนที่ต่ำลงแต่ยังไม่มากนัก” นายอารีพงศ์กล่าว

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพลังงานทดแทนภายใต้แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ซึ่งถือว่าได้ดำเนินงานตามแผนค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่จะโฟกัสต่อไปทำอย่างไรให้พลังงานทดแทนนั้นมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Firm เพื่อให้เกิดความมั่นคง ซึ่งสามารถผสมผสานเชื้อเพลิงในการผลิตได้ 2-3 แบบ เช่น แสงอาทิตย์กับชีวมวล เป็นต้น เพื่อที่จะลดพลังงานจากฟอสซิลลง พร้อมกันนี้จะเน้นการทำให้เกิดมาตรฐานของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลเพื่อให้เกิดเป็นตลาดของผู้ซื้อและผู้ขายที่ชัดเจน ไม่เกิดปัญหาเช่นปัจจุบันที่บ่อยครั้งเกิดภาวะขาดแคลนและหาซื้อไม่ได้

วีระพล จิรประดิษฐกุล
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การปรับ FiT ใหม่ให้สอดคล้องกับต้นทุนนั้นคงต้องขึ้นอยู่กับทางกระทรวงพลังงานจะคำนวณออกมาว่าจะมีอัตราเท่าใด ซึ่งหากพิจารณาแนวโน้มปัจจุบันในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นพบว่าต้นทุนลดลง ประกอบกับมีการแข่งขัน (Supply) จำนวนมากซึ่งคิดว่าน่าจะปรับลดอัตรา FiT ได้

สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากลม พบว่าขณะนี้มีเอกชนเริ่มสนใจมากขึ้นเนื่องจากได้มีการพิสูจน์แล้วว่าทิศทางของลมในประเทศไทยนั้นมีความเหมาะสมจากที่มีการลงนามซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วกว่า 200 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็มีการพัฒนาจนทำให้ต้นทุนของพลังงานลมลดลงระดับหนึ่งแต่ยังไม่มากหากเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์

“เอกชนเริ่มสนใจพลังงานลมมากขึ้น เพราะมีการพิสูจน์แล้วพบว่า 11 เดือนเฉลี่ยมีลมในการผลิตไฟฟ้าเพียงพอ เขาก็เริ่มมั่นใจ ส่วนต้นทุนก็เริ่มต่ำลงกว่าอดีต” นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น