xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจ่อคลอดพลังงานทดแทนรายภูมิภาค-เจาะหมู่บ้านสร้างรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานจ่อคลอดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนลงลึกรายภูมิภาคสิ้นปีหลังมอบ 4 มหาวิทยาลัยศึกษาแล้วเสร็จ พร้อมประสานพลังงานจังหวัดสำรวจหมู่บ้านเจาะลึกเพื่อสร้างพลังงานชุมชนสอดรับนโยบายประชารัฐเพิ่มรายได้ชาวบ้าน สร้างธุรกิจท้องถิ่น

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะประกาศนโยบายพลังงานทดแทนรายภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้ หลังจากที่ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัย 4 แห่ง ได้แก่ ม.เชียงใหม่ ม.ขอนแก่น ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ ม.สงขลานครินทร์ ทำการศึกษาลงรายละเอียดถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนในแต่ละภูมิภาคของไทยให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดพลังงานชุมชนสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นมากขึ้นตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาล

“ขณะนี้เราก็พัฒนาพลังงานทดแทนไปแล้ว และเราได้ลงลึกในรายละเอียดว่าอะไรบ้างที่จะยังสามารถนำมาพัฒนาได้อีก ขณะเดียวกันเป้าหมายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ต้องการเน้นให้เกิดโครงการประชารัฐ เพื่อให้เกิดพลังงานในชุมชนมากขึ้นในการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจชุมชนที่เข้มแข็งและเพิ่มรายได้เกษตรกร” นายอารีพงศ์กล่าว

ปัจจุบันพลังงานทดแทนภาคเหนือมีการผลิตทั้งสิ้น 1,812 เมกะวัตต์ (MW) เช่น ขยะ 4 MW ชีวภาพ ชีวมวลรวม 206 MW แสงอาทิตย์ 253 MW ความร้อนใต้พิภพ 0.3 MW ฯลฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 1,807 MW เช่น ลม 200 MW ชีวมวล 385 MW แสงอาทิตย์ 383 MW ฯลฯ ภาคกลาง 2,486 MW เช่น แสงอาทิตย์ 976 MW ขยะ 112 MW ชีวภาพ 68 MW ฯลฯ และภาคใต้ รวม 532 MW เช่น ขยะ 24 MW ชีวภาพ 98 MW ชีวมวล 80 MW เป็นต้น

นายอารีพงศ์กล่าวว่า จากนโยบายประชารัฐดังกล่าวกระทรวงพลังงานได้ประสานกับพลังงานจังหวัดทำการสำรวจหมู่บ้านต่างๆ โดยใช้ฐานกองทุนหมู่บ้านที่มี 8 หมื่นแห่งทั่วประเทศเพื่อวิเคราะห์ว่าหมู่บ้านไหนที่จะยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้นได้จากการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน ทั้งกรณีผลิตไฟขายสู่ระบบและการผลิตไฟเพื่อใช้เอง (ออฟกริด) ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้เข้าไปส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากโรงเลี้ยงหมูและไก่ที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ จากนี้ไปจะมุ่งไปดูในระดับกลางมากขึ้น รวมไปถึงจะดูในกลุ่มอุตสาหกรรม (Sector) อื่นๆ ที่มีศักยภาพ

“ไทยเป็นเกษตรกรรม ซึ่งพบว่ามีผลผลิตจากภาคเกษตรที่นำไปทิ้ง เราก็เข้าไปส่งเสริมในการทำไม้อัดแท่ง ถ่านอัดแท่ง แทนที่จะเผาทิ้ง แล้วนำเผาเพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจอื่นๆ เช่นเอาไปเผาในหม้อน้ำร้อนแทนน้ำมันเตา กรณีล่าสุดยังมีการส่งเสริมนำเยื่อไผ่ที่เหลือจากการผลิตตะเกียบมาเป็นวัตถุดิบผลิตชามที่ทดแทนการใช้โฟม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเชื่อว่าหากส่งเสริมก็จะต่อยอดให้ธุรกิจอื่นๆ ในชุมชนมีความเข้มแข็งและเลี้ยงตัวเองได้และแพร่หลายมากขึ้น ตัวอย่างที่เราประสบความสำเร็จแล้วคือ การนำพลังงานแสงอาทิตย์ไปอบกล้วย” นายอารีพงศ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น