ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ ม.เชียงใหม่ เตรียมส่งมอบสถานีต้นแบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ให้กับชุมชนสันป่าตอง นำร่องหมู่บ้านปลอด LPG แห่งแรกของประเทศ หลังทดลอง 2 ปี นำขี้ไก่จากฟาร์มในพื้นที่ผลิตใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มได้เป็นอย่างดี ในราคาที่ถูกกว่าครึ่งหนึ่ง เล็งวิจัยต่อยอดพัฒนาระบบส่งก๊าซตามท่ออย่างได้มาตรฐานและปลอดภัย
ดร.สิริชัย คุณภาพดีเลิศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ส.ค.57 ทางสถาบันวิจัยฯ เตรียมที่จะทำพิธีส่งมอบสถานีต้นแบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ให้กับชุมชนบ้านโรงวัว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ในช่วงประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ทางสถาบันฯ ได้ร่วมมือบริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ในพื้นที่ดำเนิน “โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลวในเชิงพาณิชย์” เพื่อศึกษาระบบผลิตก๊าซชีวภาพอัดสำหรับทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ผ่านทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน
โดยตามโครงการนี้ได้เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานในชุมชน จึงได้ประสานงานกับผู้นำชุมชนบ้านโรงวัว ในการนำก๊าซ CBG ที่ได้ไปใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) และนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างพอเพียง สร้างความยั่งยืนในชุมชน ลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซ LPG จากต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นด้วย จากการนำมูลไก่ที่เคยก่อผลกระทบไปใช้ในการผลิตก๊าซแทน
สำหรับสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ดังกล่าวนี้ เป็นการนำก๊าซชีวภาพซึ่งเกิดจากมูลไก่ของฟาร์ม มาผ่านกระบวนการของเทคโนโลยี Water Scrubbing หรือแบบวิธีดูดซึมด้วยน้ำที่ความดัน 4 บาร์ สามารถผลิต CBG ได้ถึง 420 กิโลกรัม/วัน หรือ 153,300 กิโลกรัม/ปี โดยมีค่าใช้จ่ายในการผลิต 12 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่า LPG ที่มีราคา 24.82 บาทต่อกิโลกรัม หรือสามารถมาทดแทนก๊าซหุงต้มได้คิดเป็นมูลค่าถึง 3,300,000 บาท/ปี และจากการทดสอบก๊าซ CBG พบว่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับก๊าซ LPG สามารถใช้ทดแทนกันได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ การส่งมอบสถานีต้นแบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ให้กับชุมชนนับเป็นการก้าวสู่การเป็นชุมชนที่มีการจัดการบริหารพลังงานทดแทนด้วยตนเองอย่างยั่งยืนและนำร่องเป็นหมู่บ้านปลอด LPG แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสานต่อโครงการที่ทำไว้ เพราะได้จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาดำเนินการบริหารจัดการสถานีผลิตและจ่ายก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) แล้ว โดยเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการจัดการบริหารทั้งกระบวนการ มีการกำหนดกฎระเบียบสำหรับผู้ใช้ก๊าซ มีทีมบริหารจัดการดูแลระบบ มีการจัดตั้งกองทุนบริหารก๊าซ CBG อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกด้วยว่า การผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เป็นการคิดค้นวิจัยของทางสถาบันฯ ซึ่งเป็นการพัฒนานำก๊าซชีวภาพมาปรับปรุงคุณภาพ โดยการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) และความชื้นออกจากก๊าซชีวภาพ เพื่อให้ได้ก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าก๊าซ NGV (Natural Gas for Vehicles) สามารถนำไปใช้สำหรับยานยนต์ และนำไปบรรจุถังสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งกำลังประสบปัญหาด้านราคาและมีแนวโน้มจะขาดแคลนในอนาคต
ส่วนการต่อยอดขยายผลจากการดำเนินการที่ผ่านมานั้น ดร.สิริชัย กล่าวว่า ขณะนี้ทางสถาบันฯ กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการขอการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิจัยต่อยอดเพิ่มแนวทางขยายการนำก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) ไปใช้โดยผ่านระบบการขนส่งทางท่อที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำก๊าซไปใช้ได้แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล