กองทุน FTA ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดดอกสู้ศึกเปิดเสรีการค้า พลิกชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น หลังเข้าไปช่วยเหลือจนสามารถพัฒนาจนเกิดสายพันธุ์ใหม่ ปลูกได้นอกฤดู แถมยังส่งออกหัวพันธุ์ไม้ไปขายยังญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ได้เพิ่มขึ้น เผยปี 58 ส่งออกไปแล้วมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท
นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า หรือกองทุน FTA ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดดอกที่มีแหล่งเพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน และพิจิตร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า มีสินค้าในกลุ่มไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบ หัวพันธุ์ไม้ และไม้กระถางจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน เข้ามาตีตลาดในประเทศ และเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น จึงต้องหาทางช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้
ทั้งนี้ กองทุน FTA ได้จ้างคณะที่ปรึกษาจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการพัฒนาพันธุ์ และศึกษาแนวทางการขยายตลาดสินค้าไม้ตัดดอกของไทยออกไปสู่ตลาดต่างประเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าไม้ตัดดอก โดยมีเป้าหมายที่ตลาดญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไม้ดอกไปจำหน่ายมากที่สุด รวมถึงตลาดเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกไม้ตัดดอกอันดับต้นของโลก
โดยผลการทำงานที่เกิดขึ้นสามารถพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ได้จำนวน 3 สายพันธุ์ คือ ลูกผสมปทุมมาสกุลขมิ้น ชื่อพันธุ์สตาร์เลท ลูกผสมกระเจียว สกุลขมิ้น ชื่อพันธุ์ พิงค์ เมโลดี้ และลูกผสมกล้วยไม้ สกุลฮาเบนาเรีย ชื่อพันธุ์ ลานนาแองเจิล ซึ่งได้มีการจดทะเบียนรับรองพันธุ์พืชแล้ว เพื่อป้องกันการแอบอ้างสิทธิ และป้องกันการละเมิดที่อาจจะเกิดขึ้น และยังสามารถพัฒนาวิธีการผลิตให้สามารถเพาะปลูกได้นอกฤดูในช่วงเดือนตุลาคม-มีนาคม จากเดิมที่เพาะปลูกได้ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายนเท่านั้น
“การเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดดอกของกองทุน FTA ในครั้งนี้สามารถช่วยเหลือให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และไม่ต้องกังวลในเรื่องการถูกไม้ตัดดอกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด เพราะสินค้าที่ผลิตได้มีตลาดรองรับในประเทศ โดยสามารถแข่งขันด้านราคาได้ คุณภาพดีกว่า และยังสามารถส่งออกหัวพันธุ์ไม้ไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นต้นแบบของการผลิตไม้ตัดดอกได้ด้วย โดยมีมูลค่าในปี 2558 สูงถึง 200 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็นปีที่ประสบภัยแล้ง ผลผลิตลดลง แต่คาดว่าปี 2559 จะมีแนวโน้มส่งออกได้มูลค่าเพิ่มขึ้น” นางดวงพรกล่าว
นางดวงพรกล่าวว่า กองทุน FTA ยังได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรให้มีการรวมกลุ่มและจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการผลิตและจำหน่ายไม้ตัดดอก โดยล่าสุดมีจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกปทุมมาบ้านหนองออน ต.อินทชิล วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตไม้ตัดดอกและหัวพันธุ์ปทุมมากระเจียว อ.สันทราย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกดอกไม้ห้วยป่าซาง วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ขยายพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลบ้านวังหินเพลิง และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกไม้ดอกบ้านกำแพงหิน
นอกจากนี้ ยังได้เข้าไปช่วยเหลือในการลดต้นทุนการบริหารจัดการจนได้รับมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตร และตามมาตรฐานสากล Global GAP ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่สินค้าไม้ตัดดอกได้รับการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสากล และสินค้าไม้ดอกที่ผลิตได้จากวิสาหกิจชุมชนทั้งหมดนี้ยังมีระบบควบคุมคุณภาพ มีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ซื้อได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน กรมฯ ได้สนับสนุนให้วิสาหกิจชุมชนที่มีอยู่ทั้ง 5 แห่งได้ทำการพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกไม้ตัดดอกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและถ่ายภาพ เพราะไม้ตัดดอกที่เพาะปลูกได้มีสีสันสวยงาม คุณภาพดีเท่ากับไม้ตัดดอกของประเทศเมืองหนาว ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เพิ่มขึ้นแน่