น้ำตาลบุรีรัมย์ คาดผลงานใกล้เคียงปีก่อน หลังครึ่้งปีแรกกำไรหดจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับลด มองทิศทางฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง ขณะการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง มูลค่ารวม 3.6 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงาน ก.ล.ต. คาดจัดตั้งได้ปี 60 เพื่อนำเงินไปใช้ก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ และลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 1 แห่ง
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดรายได้ และกำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อน ที่ทำรายได้ไว้ที่ 4.2 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 271.96 ล้านบาท หลังช่วงครึ่งแรกของปีนี้ทำกำไรสุทธิได้ 165.24 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวลง ซึ่งช่วงครึ่งปีแรกราคาน้ำตาลเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13 เซ็นต์/ปอนด์ ซึ่งน่าจะเป็นราคาที่ถึงจุดต่ำสุดแล้ว และมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช่วงครึ่งปีหลัง
โดยปัจจุบัน ราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 22-23 เซ็นต์/ปอนด์ และคาดราคาน้ำตาลทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 19 เซ็นต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากระดับเฉลี่ย 14 เซ็นต์/ปอนด์ในปีที่แล้ว จากความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ปริมาณการผลิตไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ทำให้น้ำตาลขาดตลาด โดยเฉพาะในประเทศบราซิล ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็ลดปริมาณการส่งออกลง ขณะที่ประเทศไทย ประเมินว่า ปริมาณอ้อยเข้าหีบในปีนี้จะลดลงเหลือไม่ถึง 90 ล้านตันอ้อย
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบฤดูกาล 59/60 จะอยู่ที่ 2.4 ล้านตัน จากปีก่อนอยู่ที่ 2 ล้านตัน หรือคิดเป็นผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยเฉลี่ย (yield) อยู่ที่ 115 กิโลกรัมต่อตันอ้อย และน่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.87 แสนตัน ส่วนฤดูกาล 60/61 คาดปริมาณอ้อยเข้าหีบจะมากกว่า 2.4 ล้านตัน จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเป็น 2.4 แสนไร่ และวางเป้าหมายภายในอีก 2 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณอ้อยเข้าหีบที่ 3 ล้านตัน ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มเป็น 2.5 แสนไร่
นายอนันต์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจโรงไฟฟ้าของบริษัทในเครือ 2 แห่ง คือ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด (BEC) และ บริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด (BPC) มูลค่ารวม 3.6 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวได้ในช่วงต้นปี 60 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเม็ดเงินทุนที่ได้ไปก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ จำนวน 1 แห่ง กำลังการผลิต 1-1.2 พันตันอ้อย/วัน งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท และก่อสร้างโรงงานน้ำตาลทรายอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 20,000 ตันอ้อย/วัน
นอกจากนี้ ยังจะใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 1 แห่ง จากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าแล้ว จำนวน 3 แห่ง โดย 2 แห่งมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว กำลังการผลิตรวม 19.8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดจะเริ่ม COD ได้ภายในปีนี้ และรับรู้รายได้เข้ามาทันที อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าราว 10% ธุรกิจน้ำตาล 70% และที่เหลือเป็นอื่นๆ
“เราคาดว่า รายได้ และกำไรสุทธิน่าจะทำได้ใกล้เคียงปีก่อน จากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลง และภัยแล้ง แต่เราก็มีรายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาเพิ่มขึ้น จากการขายไฟในรูปแบบ FIT ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นราว 20% จากรูปแบบแอดเดอร์เดิมที่อยู่ราว 3.50 บาท ส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 10% ในปีนี้ จากปีก่อนไม่ถึง 10% ขณะที่มองแนวโน้มราคาน้ำตาลในครึ่งปีหลังก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดราคาน้ำตาลปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 19 เซ็นต์/ปอนด์” นายอนันต์ กล่าว