“สุวิทย์” มอบนโยบายพาณิชย์จังหวัด นำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดให้เข้าสู่ยุค 4.0 โดยอิงยุทธศาสตร์การค้า 18 กลุ่มจังหวัด หวังช่วยเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว โดยใช้จุดเด่นของแต่ละจังหวัด
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการมอบนโยบายการทำงานให้กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดว่า ได้มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดนำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไปปรับใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับจังหวัด เพื่อให้เป็นแผนเศรษฐกิจจังหวัด 4.0 โดยต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจภูมิภาคให้เป็นระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ด้วยการพัฒนาแนวความคิดของผู้ประกอบการ ผ่านการให้องค์ความรู้ การบริหารจัดการ และการสร้างนวัตกรรม
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ที่แต่ละกลุ่มจะต้องนำจุดเด่นในพื้นที่มาพัฒนาให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจแห่งอนาคต ที่จะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การเติบโตอย่างยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันต้องทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นแข็งแกร่ง เพิ่มกำลังซื้อของภาคประชาชน ดูแลราคาสินค้าเกษตร โดยจะมีแผนการมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของท้องถิ่นและพื้นที่สำคัญๆ เช่น ยุ้งฉาง ตลาดชุมชน ตลาดกลางสินค้าเกษตร
“แผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม จะทำให้พาณิชย์จังหวัดแต่ละแห่ง สามารถโฟกัสได้ว่าแต่ละจังหวัดจะทำอะไร จะเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยว สินค้าเด่นในจังหวัดให้เข้ากับการท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับโครงสร้างหน่วยงานในภูมิภาคให้เป็น One Roof จะทำให้การทำงานในระดับภูมิภาคมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะเหมือนกับเป็นกระทรวงพาณิชย์ย่อยๆ ในต่างจังหวัด จึงทำให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัดได้” นายสุวิทย์กล่าว
สำหรับยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารสุขภาพภาคเหนือ, กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) เป็นศูนย์กลางการค้าและท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอนเหนือ ประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน+3, กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์) เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการสี่แยกอินโดจีนและประตูสู่พม่า และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) เป็นศูนย์กลางธุรกิจข้าวและท่องเที่ยวมรดกโลก
กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 (พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี) กำหนดให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองนวัตกรรมด้านอาหาร แหล่งองค์ความรู้ด้านการศึกษานวัตกรรม และลอจิสติกส์, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง) เป็นฐานการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง (สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สมุทรปราการ) เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประตูสู่อาเซียนและโลก, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี) เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งภาคตะวันตก และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าประมงแปรรูป สินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวนานาชาติ
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) กำหนดให้เป็นศูนย์กลางผลไม้ออร์แกนิก อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสะอาด และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) กำหนดให้เป็นศูนย์กลางการค้าของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประตูสู่อาเซียนตะวันออกและจีน, กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) เป็นเมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลอจิสติกส์, กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ) เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์อารยธรรมขอมและกีฬา และศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) เป็นศูนย์กลางข้าวหอมมะลิโลก และประตูสู่อาเซียนตะวันออก
ทางภาคใต้ กำหนดให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง) เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารและศูนย์กลางท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับโลก, กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรภาคใต้ (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เป็นเมืองนวัตกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรภาคใต้และประตูสู่อาเซียนตอนใต้ (ยางพารา อาหารฮาลาล ประมง)