นราธิวาส - นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะได้เข้าร่วมประชุมแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานผ่านการสร้างเมืองเข้มแข็ง
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน และ ศอ.บต. ตลอดผู้ว่าราชการจังหวัด 3 จังหวัดชายแดนใต้ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้นำเสนอการขับเคลื่อนการทำงานที่เป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนผ่านการสร้างเมืองเข้มแข็ง สร้างความเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองสำคัญให้เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Smart Green Cities เป็นรูปแบบ “สามเหลี่ยมการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ต้นแบบเมืองพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ เมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนระหว่างประเทศ เมืองเบตง จ.ยะลา เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน และเมืองหนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อพัฒนาขึ้นเป็นเมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าแบบผสมผสาน ซึ่งมีกรอบแนวคิดมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกลไก “ประสานประชารัฐ”
โดยเฉพาะการนำจุดแข็งของพื้นที่มาประกอบสร้างฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยรูปแบบ “เกษตรอุตสาหกรรม” เพื่อเป็นต้นทุนการผลิตอาหารสุขภาพ และอาหารฮาลาล
ทั้งนี้ มีแผนการขับเคลื่อนอย่างมั่นคงตามกรอบพัฒนาดังกล่าว ภายใต้กรอบเวลา 4 ปี รวม 6 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 สามเหลี่ยมในการพัฒนาในพื้นที่ที่ต้องการดูแลอย่างใกล้ชิด ระยะที่ 2 ระยะเส้นขอบการพัฒนาพื้นที่พรมแดน ระยะที่ 3 เส้นทางบรรจบยะลา-เบตง ระยะที่ 4 การเชื่อมต่อจาก จ.ปัตตานี ระยะที่ 5 สามเหลี่ยมสามอำเภอเมือง (อ.เมืองปัตตานี อ.เมืองยะลา และ อ.เมืองนราธิวาส) และระยะที่ 6 สามเหลี่ยมสามอำเภอเมือง (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส)
อย่างไรก็ตาม นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เตรียมเสนอในที่ประชุมเกี่ยวกับการเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาด่านศุลกากรบูเก๊ะตา ต.โล๊ะจูด อ.แว้ง จ.นราธิวาส ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการในระยะที่ 3 เพื่อให้เสร็จพร้อมรองรับการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจชายแดน การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ตลอดจนการดำเนินการในระยะที่ 4 ให้แล้วเสร็จ เพื่อจะสามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างเต็มรูปแบบต่อไปด้วย