“พาณิชย์” จับมือนิด้าทำแผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่ม ระยะ 5 ปี หวังใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัดและภูมิภาค คาดสรุปแผนและเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) จัดทำแผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มจังหวัด ระยะ 5 ปี (2560-2564) และได้มีการเดินสายระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในกลุ่มจังหวัดต่างๆ เพื่อร่วมกันปรับปรุงแผน จนสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ทางการค้าของแต่ละกลุ่มจังหวัดได้แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการระดมความคิดเห็นขั้นสุดท้ายในระดับผู้บริหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะนำไปปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การค้ากลุ่มจังหวัดให้ชัดเจน และมอบให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์นำไปปฏิบัติต่อไป
“กระทรวงพาณิชย์ได้จัดเวิร์กชอประดมความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว โดยสามารถจัดทำยุทธศาสตร์การค้าในแต่ละกลุ่มจังหวัด ทั้ง 18 กลุ่มได้แล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแผนให้ชัดเจน และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะผลักดันให้นำไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 เป็นต้นไป” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวว่า กระทรวงฯ ได้กำหนดให้กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน) เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารสุขภาพภาคเหนือ, กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) เป็นศูนย์กลางการค้าและท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตอนเหนือ ประตูสู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน+3, กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 (ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์) เป็นศูนย์กลางการค้าและบริการสี่แยกอินโดจีนและประตูสู่พม่า และกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี) เป็นศูนย์กลางธุรกิจข้าวและท่องเที่ยวมรดกโลก
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 (พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี) กำหนดให้เป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เมืองนวัตกรรมด้านอาหาร แหล่งองค์ความรู้ด้านการศึกษานวัตกรรม และลอจิสติกส์, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 (ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง) เป็นฐานการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง (สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครนายก สมุทรปราการ) เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสีเขียว การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประตูสู่อาเซียนและโลก, กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 (นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี) เป็นศูนย์กลางการค้าและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แห่งภาคตะวันตก และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าประมงแปรรูป สินค้าเกษตร และการท่องเที่ยวนานาชาติ
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด) กำหนดให้เป็นศูนย์กลางผลไม้ออร์แกนิก อุตสาหกรรมไฮเทค อุตสาหกรรมสะอาด และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ) กำหนดให้เป็นศูนย์กลางการค้าของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและประตูสู่อาเซียนตะวันออกและจีน, กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (สกลนคร นครพนม มุกดาหาร) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์) เป็นเมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลอจิสติกส์, กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ) เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์อารยธรรมขอมและกีฬา และศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตร และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร) เป็นศูนย์กลางข้าวหอมมะลิโลก และประตูสู่อาเซียนตะวันออก
ทางภาคใต้ กำหนดให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง) เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารและศูนย์กลางท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับโลก, กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอ่าวไทย (สุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง) เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรภาคใต้ (ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้) และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) เป็นเมืองนวัตกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรภาคใต้และประตูสู่อาเซียนตอนใต้ (ยางพารา อาหารฮาลาล ประมง)