รัฐมนตรี RCEP จาก 16 ประเทศนัดถก 3-4 พ.ย.นี้ ปลดล็อกประเด็นปัญหาที่ติดขัด ทั้งการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน หวังเดินหน้าการเจรจาให้จบตามคำสั่งผู้นำ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีการค้ากลุ่มความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จำนวน 16 ประเทศ ได้นัดประชุมกันในวันที่ 3-4 พ.ย. 2559 เพื่อร่วมกันพิจารณาตัดสินใจในเชิงนโยบายและแนวทางการเจรจาว่าจะเดินหน้าการเจรจา RCEP อย่างไรต่อไป หลังจากที่ผู้นำได้มอบหมายให้เร่งรัดการเจรจาให้สำเร็จ เพราะการเจรจาที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาติดขัดในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน ที่ท่าทีของบางประเทศไม่ยอมผ่อนปรนหรือยืดหยุ่นในการเจรจา ทำให้การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้
ทั้งนี้ ประเด็นที่รัฐมนตรีจะต้องตัดสินใจในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า ก็คือ จะใช้รูปแบบอะไรในการลดภาษีสินค้าในส่วนที่เหลืออีก 20% ที่ยังไม่ลดภาษี 0% ทันที เพราะมีสินค้าอ่อนไหว และสินค้าอ่อนไหวที่สุดอยู่ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดแนวทางออกมา เพื่อให้คณะเจรจาในระดับเจ้าหน้าที่ไปเจรจาต่อ ส่วนอีก 80% นั้นสามารถตกลงกันได้แล้วว่าจะลดภาษีเหลือ 0% ทันที ซึ่งในส่วนของอาเซียนต้องการที่จะให้มีการเปิดเสรีสูงถึง 92% ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันใน RCE ด้วยซ้ำ
“เรื่องสินค้าอ่อนไหว และอ่อนไหวที่สุด สมาชิกมีความตระหนักดีถึงข้อจำกัดของแต่ละประเทศ แต่จะต้องมีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการลดภาษีในสินค้ากลุ่มนี้ให้ได้ โดยอาจจะยอมให้มีการยืดระยะเวลาในการลดภาษีนานกว่าปกติ หรือยอมให้มีการกำหนดโควตา หรือการเปิดตลาดให้แต่ละประเทศไม่เท่ากัน” นายรณรงค์กล่าว
นายรณรงค์กล่าวว่า สำหรับการค้าบริการ ขณะนี้ได้มีการกำหนดแนวทางการเปิดเสรี โดยให้สมาชิกยื่นรายการบริการที่จะเปิดเสรี โดยคู่เจรจาของอาเซียน 6 ประเทศ (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ได้ยื่นข้อเสนอให้เปิดเสรีทันทีประมาณ 120 สาขาบริการ จากที่มีอยู่ทั้งหมด 155 สาขา ขณะที่อาเซียนเสนอให้เปิดเสรีประมาณ 100 สาขา ซึ่งรัฐมนตรีก็จะต้องมีการตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วยว่าจะกำหนดสาขาการเปิดเสรีมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการเปิดเสรีการลงทุน กำหนดให้สมาชิกยื่นรายการที่จะไม่มีการเปิดเสรีในขณะนี้ หากไม่ยื่นก็จะถือว่าเป็นรายการที่เปิดให้มีการเข้ามาลงทุนได้ และจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในการเปิดเสรี เช่น การให้สิทธินักลงทุนเข้ามาลงทุนใน RCEP ได้เท่าเทียมกันกับนักลงทุนในชาติ
อย่างไรก็ตาม ในการเปิดเสรีบริการจะมีประเด็นที่เป็นจุดเปลี่ยน ก็คือ จะมีเงื่อนไขที่กำหนดให้การเปิดตลาดบริการจะต้องเปิดให้เท่ากับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันของแต่ละประเทศ และหากในอนาคตมีการปรับแก้กฎหมายที่มีการเปิดเสรีเพิ่มขึ้น ก็จะต้องเปิดให้กับสมาชิก RCEP โดยอัตโนมัติ
นายรณรงค์กล่าวว่า หากรัฐมนตรีมีแนวทางการเจรจาที่ชัดเจนแล้ว คณะเจรจา RCEPก็จะไปเจรจากันต่อ โดยคาดว่าอย่างช้าน่าจะสรุปผลการเจรจากันได้ไม่เกินเดือน ก.ย. 2559 และจากนั้นสมาชิกจะไปดำเนินกระบวนการภายในเพื่อให้ข้อตกลงมีผลบังคับใช้ และถ้าบังคับใช้ได้ก็จะถือเป็นข้อตกลง FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะเหนือกว่าความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใด