อาเซียนชงเปิดตลาดสินค้ากรอบ RCEP เสนอลดภาษี 92% ของรายการทั้งหมด ส่วนการเปิดตลาดบริการได้กรอบการเปิดตลาดแล้ว รวมถึงด้านการลงทุน เตรียมชงรัฐมนตรี RCEP เคาะประเด็นที่ยังติดขัด 5 ส.ค.นี้ก่อนให้ไปเจรจาต่อให้จบตามมติผู้นำ ไทยปิ๊งไอเดีย เตรียมเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียใช้ช่องทางออนไลน์แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างการประชุม
น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีความคืบหน้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในด้านการเปิดตลาดการค้าสินค้า อาเซียนได้เสนอให้มีการลดภาษีทันที 92% ของพิกัดศุลกากรและมูลค่าการค้า โดยประเทศที่พัฒนาแล้วให้การสนับสนุน แต่ก็มีบางประเทศที่กำลังพัฒนาที่ไม่เห็นด้วย จึงได้มีการเสนอทางออกให้ประเทศที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยไปเจรจาตกลงกัน 2 ฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อสรุป
ส่วนการเปิดตลาดด้านการค้าบริการ ได้มีการหารือถึงระดับการเปิดตลาดว่าจะเปิดเสรีมากน้อยแค่ไหน จำนวนสาขาที่จะผูกพันจำนวนเท่าไร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นรายการสาขาบริการที่จะมีการเปิดเสรี และในด้านการลงทุน ได้มีการยื่นรายการที่จะสงวนและยังไม่เปิดเสรีแล้ว ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนเสนอรายการสงวนเพิ่มเติม
“เป้าหมายของการเจรจา RCEP จะต้องเจรจาให้จบภายในปีนี้ตามมติที่ผู้นำได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งจะมีการรายงานความคืบหน้าการเจรจา และประเด็นปัญหาให้ที่ประชุมรัฐมนตรี RCEP ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 ส.ค. 2559 ที่จะประชุมกันที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว พิจารณา เพื่อมอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ไปเจรจาต่อให้ได้ข้อสรุป ก่อนที่จะเสนอผู้นำให้ความเห็นชอบต่อไป” น.ส.ศิรินารถกล่าว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจา RCEP ของไทย กล่าวว่า สมาชิก RCEP ได้มีการประชุมครั้งที่ 13 ที่เมืองโอกแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยได้มีการหารืออย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับแนวทางการเร่งรัดการเจรจาจัดทำความตกลงในทุกเรื่อง ได้แก่ การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย การแข่งขัน กฎว่าด้วยถิ่นกําเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอํานวยความสะดวกทางการค้า สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเงิน โทรคมนาคม และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ตามเป้าหมายที่ผู้นำได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในการประชุมเจ้าภาพได้เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้หารือและเสนอความเห็นต่อที่ประชุม โดยใช้หลายช่องทาง ทั้งการจัดงาน ณ สถานที่ประชุม การใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น อีเมล ทวิตเตอร์ เพื่อให้ภาคธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี โดยมีการเสนอความเห็นในหลายประเด็น เช่น การค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และข้อกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เป็นต้น ซึ่งไทยเห็นว่าเป็นมิติใหม่ และจะนำแนวทางดังกล่าวมาใช้ในการจัดการประชุมในไทยในโอกาสต่อไปด้วย
สำหรับการเจรจาของคณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ครั้งต่อไป จะมีการประชุมครั้งที่ 14 ในระหว่างวันที่ 15-19 ส.ค. 2559 ณ นครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม