อาเซียนนัด 6 ประเทศคู่เจรจาถกเร่ง RCEP 15-19 ก.พ.นี้ ติดตามข้อเสนอเปิดตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน ตั้งเป้าเจรจาให้จบภายในปีนี้
น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP-TNC) จะมีการประชุมครั้งที่ 11 ในวันที่ 15-19 ก.พ.2559 ณ ประเทศบรูไน โดยไทยจะร่วมกับสมาชิกอาเซียนหารือร่วมกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อผลักดันให้การเจรจา RCEP ให้ประสบความสำเร็จภายในปี 2559 ตามที่ผู้นำได้กำหนดไว้
ทั้งนี้ ในประเด็นการค้าสินค้าจะมีการติดตามรายละเอียดการเปิดตลาด โดยจะผลักดันให้มีการลดภาษีที่ครอบคลุมสินค้าที่ค้าขายกันใน RCEP เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สมาชิก RCEP ได้ตกลงที่จะลดภาษีสินค้ากลุ่มแรก 65% ของรายการสินค้าที่ค้าขายกันทั้งหมดประมาณ 8-9 พันรายการ เหลือภาษี 0% ทันที และอีก 20% จะลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 10 ปี ส่วนอีก 15% ที่เหลือซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว จะมีการเจรจาให้มีการแนวทางการลดภาษีต่อไป
“กำลังจะคุยกันในหลักการว่าจะเปิดตลาดกันทั้ง 100% ได้หรือไม่ โดยให้ยกเว้นการลดภาษีได้บางรายการสินค้า ซึ่งต้องไปพูดคุยกันก่อน เพราะเรื่องนี้อาจจะยาก เพราะอาเซียนกับ 6 ประเทศคู่เจรจามีความแตกต่างกันมาก และถ้าทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อการค้าขายใน RCEP แต่ถ้าจะใช้แนวทางนี้ก็ต้องมีการยืดหยุ่นให้แก่อาเซียนใหม่ ซึ่งต้องไปคิดกันว่าจะให้มีแต้มต่อยังไง โดยในส่วนของไทย มีความพร้อมที่จะลดภาษีมากกว่าที่คุยกันไว้ เพราะภาษีของไทยมากกว่า 80% เป็น 0% ไปแล้ว” น.ส.ศิรินารถ กล่าว
น.ส.ศิรินารถ กล่าวว่า สำหรับการเปิดตลาดการค้าบริการจะมีการติดตามรายละเอียดการเปิดตลาดว่าสมาชิกแต่ละประเทศจะเปิดบริการอะไรบ้าง ซึ่งทุกประเทศจะต้องยื่นภาคบริการที่จะมีการเปิดตลาด โดยในส่วนของอาเซียนมีเกณฑ์ร่วมกันในการเปิดตลาดแล้วว่า จะใช้การเปิดเสรีบริการภายใต้กรอบอาเซียนเป็นหลัก แต่รายละเอียดอาจจะน้อยกว่าที่เปิดเสรีในอาเซียน และเมื่อได้ภาพรวมทั้งหมดแล้ว สมาชิกจะยื่นข้อเรียกร้องว่าอยากให้เปิดอะไรเพิ่มเติม ส่วนการเปิดตลาดการลงทุนอยู่ระหว่างการยื่นรายละเอียดว่าจะเปิดให้อะไรให้สมาชิกเข้ามาลงทุนในธุรกิจไหนได้บ้าง
นอกจากนี้ จะมีการหารือถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สินทางปัญญา การแข่งขัน และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
น.ส.ศิรินารถ กล่าวว่า การเปิดเสรีในกรอบ RCEP อยากให้มีการเปิดเสรีที่มากกว่าข้อตกลง FTAเดิมที่อาเซียนทำกับคู่เจรจาทั้ง 6 ประเทศ เพราะถ้าทำแล้วรายละเอียดข้อตกลงน้อยกว่าเดิม ก็จะทำให้แข่งขันกับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ได้ยาก แต่ถ้าทำได้ดี มีการเปิดเสรีมากกว่าเดิม และมีเงื่อนไขที่เข้มข้นขึ้น ก็จะทำให้ RCEP แข่งกับ TPP ได้ เพราะ RCEP เป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก