กฟผ.สนองนโยบายสร้างความมั่นคงทางพลังงานของภาครัฐ ลงนาม 2 สัญญา พัฒนากังหันลม 12 ต้น กำลังผลิตรวม 24 เมกะวัตต์ บนพื้นที่โรงไฟฟ้าลำตะคอง พร้อมนำระบบ Wind Hydrogen Hybrid ควบคู่เทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง เทคโนโลยีใหม่ในการกักเก็บและผลิตพลังงานไฟฟ้าอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีขนาดใหญ่สุดในประเทศไทย ขนาดใหญ่แห่งแรกในเอเชีย เพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ทุกช่วงเวลา กฟผ. ย้ำประเทศไทยต้องสร้างสมดุลพลังงาน พัฒนาพลังงานหมุนเวียนคู่โรงไฟฟ้าหลัก
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้ลงนามสัญญางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 กับ บริษัท ไฮโดรไชน่า และลงนามสัญญางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม กับกิจการค้าร่วม ไฮโดรเจนิกส์ ยุโรป เอ็น.วี และบริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด บริษัทเอกชนผู้ชนะการประกวดราคา ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการ คณะกรรมการ กฟผ.เป็นประธานในพิธี
ทั้งนี้ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 เกิดขึ้นจากนโยบายภาครัฐ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ โดยการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าให้มีความสมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ และเหมาะสมสำหรับประเทศไทย ซึ่งการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานลมนี้ กฟผ.ได้นำเทคโนโลยีใหม่ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid System และการผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงมาดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีความเสถียร และพร้อมจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคงตลอดทุกช่วงเวลา ซึ่งเป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นของ กฟผ.ที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยได้ติดตามเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อก้าวผ่านข้อจำกัดต่างๆ ของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจนสำเร็จ
โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 ตั้งอยู่บริเวณสันเขายายเที่ยง บ้านยายเที่ยงเหนือ ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว และตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 24 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยกังหันลม จำนวน 12 ต้น ต้นละ 2 เมกะวัตต์ เป็นกังหันลมแบบแกนนอน สำหรับความเร็วลมต่ำ ขนาดความสูงของเสา 94 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของใบพัด 116 เมตร มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้น โดยมีบริษัท ไฮโดรไชน่า เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมมูลค่างานก่อสร้างกว่า 1,407 ล้านบาท คาดกำหนดแล้วเสร็จสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2560
“การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานลมต้องพึ่งพาพลังงานจากธรรมชาติซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ กฟผ.จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมขึ้น โดยนำระบบ Wind Hydrogen Hybrid System ขนาดกำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปแบบของก๊าซไฮโดรเจน เมื่อนำเข้าใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง หรือ Fuel Cell ก๊าซไฮโดรเจนจะผ่าน Fuel Cell และเกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ ซึ่งระบบดังกล่าวถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่กักเก็บในรูปแบบของก๊าซไฮโดรเจนมาใช้งานได้อย่างสม่ำเสมอตลอดวัน” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่นำระบบการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลม Wind Hydrogen Hybrid System มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าร่วมกับเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีกิจการค้าร่วม ไฮโดรเจนิกส์ ยุโรป เอ็น.วี. และบริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์และก่อสร้างจนแล้วเสร็จ รวมมูลค่าการก่อสร้าง 234.5 ล้านบาท โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2560 และในอนาคต กฟผ.จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานโรงไฟฟ้าลำตะคองขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงาน และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยต้องมีการสร้างสมดุลพลังงานที่เหมาะสม ในช่วงเวลาที่มีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนนั้น โรงไฟฟ้าหลักอย่างก๊าซธรรมชาติและถ่านหินยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน