บุรีรัมย์ - จังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งเสริมเกษตรกรทั้ง 23 อำเภอหันมาใช้นวัตกรรม “เครื่องตะบันน้ำ” จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีต้นทุนต่ำ อาศัยพลังงานจากธรรมชาติไม่ก่อมลพิษมาประยุกต์ใช้ทำการเกษตรสู้วิกฤตภัยแล้ง ขณะนี้เกษตรกรเริ่มทดลองใช้แล้วในหลายพื้นที่
วันนี้ (7 ม.ค.) จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดบุรีรัมย์ นำตัวแทนเกษตรกร และผู้นำชุมชนจากทั้ง 23 อำเภอ เข้ามาศึกษาเรียนรู้การสาธิตวิธีการใช้เครื่องตะบันน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ทางศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานได้ผลิตขึ้นเพื่อให้เกษตรกรนำไปปรับใช้ในพื้นที่การเกษตรของตัวเองเพื่อสู้กับวิกฤตภัยแล้ง เนื่องจากจังหวัดบุรีรัมย์เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี
โดยเครื่องตะบันน้ำดังกล่าวเป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานธรรมชาติด้วยระบบสุญญากาศที่มีอยู่ในตัวของมันเอง ในการสูบดึงน้ำและส่งน้ำขึ้นไปบนที่สูง โดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์มาเป็นตัวขับดันอุปกรณ์ตะบันน้ำให้สิ้นเปลือง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์สำหรับการปลูกผักสวนครัว นาข้าว และพืชชนิดต่างๆ ได้ เพราะเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับท้องถิ่น มีต้นทุนน้อย อาศัยพลังงานธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
ทั้งนี้ ทางศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานก็ได้มอบเครื่องตะบันน้ำที่ผลิตขึ้นให้แก่เกษตรกรเพื่อเป็นต้นแบบแล้วทั้งหมด 10 จุดใน 23 อำเภอ ทั้งจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ได้นำไปประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้นด้วย
นายเสรี ศรีหะไตร ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สำหรับตัวแทนเกษตรกรที่เข้าอบรมและเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องตะบันน้ำในครั้งนี้ จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการน้ำในการทำการเกษตรอย่างพอเพียง คุ้มค่า โดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงหรือพลังงานชนิดอื่น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี