รมว.พลังงานยันความเห็นไตรภาคีไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่อยู่ที่รัฐบาล ชี้โรงไฟฟ้ากระบี่สร้างความมั่นคงด้านพลังงานภาคใต้ ขณะที่มูลนิธิพลังงานแนะรัฐทบทวนพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าหลังความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหลายแหล่ง
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการไตรภาคีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังไม่สามารถสรุปความเห็นได้ภายกรอบระยะเวลา 8 เดือนตามมติ ครม.ที่จะครบในเดือนสิงหาคมนี้ว่า หากคณะกรรมการฯจะยึดเวลาทำงานหลังจากที่นายกรัฐมนตรีลงนามแต่งตั้ง คือ ครบเวลาภายใน 9 ตุลาคม 2559 ก็ไม่เป็นไร เพราะการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นมาเพื่อรับฟังข้อเสนอทุกด้านให้ดีที่สุด และไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ซึ่งผู้ตัดสินใจว่าจะให้ก่อสร้างหรือไม่ คือรัฐบาล และหากดูความจำเป็นแล้วควรต้องเดินหน้าก่อสร้าง เพราะจะเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานในภาคใต้และเป็นการกระจายเชื้อเพลิง
ส่วนที่มีข้อเสนอให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ชีวมวลจากปาล์ม ทางภาครัฐก็พร้อมรับฟัง แต่ต้องพิจารณาถึงความมั่นคง และต้นทุนด้วย ล่าสุดเงินอุดหนุนพลังงานทดแทนปัจจุบันคิดเป็นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) อยู่ที่ 21 สตางค์/หน่วย
นางสุวพร ศิริคุณ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานเสวนาเรื่อ “ไฟฟ้าไทย อย่างไรจะลงตัว” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่ากระทรวงพลังงานควรทบทวนการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานจากแผน PDP 2015 เนื่องจากขณะนี้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากหลายแหล่ง เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่การพัฒนาระบบสายส่งยังมีปัญหาจากการต่อต้านของชาวบ้านเจ้าของพื้นที่ ขณะที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการให้ไฟฟ้ามีใช้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และคำนวณค่าไฟฟ้าให้เหมาะสม
ด้านนายวีระพล จิระประดิษฐกุล กรรมการกิจการพลังงาน กล่าวว่า การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าเริ่มซับซ้อนมากขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง จำเป็นต้องมีการปรับปรุงการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงาน รวมทั้งผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งอื่น