xs
xsm
sm
md
lg

“กฟผ.” สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” ชะลอโรงไฟฟ้ากระบี่จนกว่าชุมชนแสดงความต้องการชัดเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.น้อมรับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ชะลอโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ พร้อมรอฟังความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ หวั่นกระทบความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้หากเศรษฐกิจฟื้นตัว ย้ำนายกฯ ระบุแค่ชะลอไม่ได้ระงับ


นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. พร้อมน้อมรับคำสั่งท่านนายกรัฐมนตรีให้ชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยที่ผ่านมา กฟผ.ได้มีการถอนคณะทำงานออกจากพื้นที่แล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งการชะลอการก่อสร้างดังกล่าวจะส่งผลให้ระบบไฟฟ้าพื้นที่ภาคใต้ขาดความมั่นคง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กฟผ.ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ประมาณวันละ 200-300 เมกะวัตต์ และหากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในภาคใต้จำเป็นต้องหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงหรือมีการหยุดส่งจ่ายก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา เหมือนที่ผ่านมา กฟผ.จะต้องส่งไฟฟ้าไปช่วยเพิ่มมากถึง 600-700 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ สถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคใต้เพิ่มขึ้น 5-6% ต่อปี หรือประมาณปีละ 150 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ในระยะเวลา 6 ปี ข้อเท็จจริงคือ ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยและทั่วโลกต่างประสบปัญหาสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือหากสภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นเชื่อว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้จะเพิ่มไปมากกว่านี้อีก หากสร้างโรงไฟฟ้าไม่ทัน จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ตามมา รวมทั้งในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ยังจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าหลักที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพราะมีความมั่นคง สำหรับพลังงานทดแทนสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานเสริมได้ ทั้งนี้จะมีปริมาณเท่าไหร่ขึ้นกับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศว่า ประชาชนสามารถรับภาระได้อย่างไรและความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีความพร้อมอย่างไร ทั้งนี้ ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันพลังงานทดแทนยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะช่วยเรื่องความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้

“เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้แถลงอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลมีการชะลอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ แต่ไม่ได้ระงับ โดยขอให้ทำข้อสรุปว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการอะไร หากบอกอะไรมาแล้วให้ทำตามทุกอย่างคงไม่ใช่ เพราะรัฐบาลต้องทำตามความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประกอบกับความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ด้วย ดังนั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องรอฟังเสียงส่วนใหญ่ของชุมชนที่ต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่าต้องการให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่หรือไม่ ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ กฟผ.จะศึกษาเรื่องโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ไปด้วย ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าถ่านหิน และในอนาคตจะส่งผลให้ภาพรวมค่าไฟฟ้าทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย” ผู้ว่าการ กฟผ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น