“จรัมพร” ฟุ้งหยุดเลือดไหลการบินไทยได้ ผ่านช่วงเหนื่อยสุดของปี Q2/59 ขาดทุนสุทธิที่ 2.9 พันล้าน ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุนเกือบ 1.3 หมื่นล้าน เดินหน้าใช้ระบบบริหารราคาตั๋วแบบเรียลไทม์ และจัดเส้นทางบิน หวังรายได้เพิ่ม 2-3% หรืออย่างน้อย 2 -4 พันล้าน ลุยโค้ดแชร์ 10 แอร์ไลน์พันธมิตร ขยับสัดส่วนรายได้จาก 5% เป็น 20-25%
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในไตรมาส 2/2559 (เม.ย.-มิ.ย.) ขาดทุนสุทธิ 2,915 ล้านบาท เปรียบเทียบกับไตรมาส 2/2558 ถือว่าขาดทุนลดลงมาก (ไตรมาส 2/58 ขาดทุนสุทธิกว่า 12,800 ล้านบาท) ดังนั้น การบินไทยได้ผ่านไตรมาสที่แย่ที่สุดของปีซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว ( Low Season) ซึ่งเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุดของสายการบินมาแล้ว โดยผลประกอบการรวม 6 เดือนปี 2559 มีกำไรจากการดำเนินงาน 5,397 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,100 ล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกปี 2558 ที่มีขาดทุนจากการดำเนินงาน 297 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ ถึง 8,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ผู้โดยสารในไตรมาส 2 จะเพิ่มขึ้น 3% อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เพิ่มขึ้น 2% แต่รายได้และกำไรเพิ่มไม่มากนักเนื่องจากราคาน้ำมันลดลง ทำให้สายการบินต่างๆ มีการลดค่าโดยสารเพื่อแข่งขันกันมาก แต่ถือว่าบริษัทฯ มีความสามารถทางการขายเพิ่มมากขึ้น โดยเป้าหมายในการทำงานหลังจากนี้จะพยายามเพิ่ม Cabin Factor ให้ถึง 80% จากปัจจุบันที่ Cabin Factor เฉลี่ย 75% ซึ่งจะส่งผลให้มีรายได้เพิ่มอีก 5% โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเนื่องจากเป็นการขายที่นั่งว่างให้ได้มากขึ้น รวมถึงร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรในการทำโค้ดแชร์ (Code Sharing) เพิ่มขึ้นซึ่งมีกว่า 10 สายการบินโดยจะพยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้จากโค้ดแชร์ จากปัจจุบันที่มีเพียง 5% ให้เป็น 20-25% ให้เร็วที่สุด ถือเป็นสัดส่วนรายได้ที่สายการบินอื่นๆ มีจากการทำโค้ดแชร์
"ตอนนี้ การใช้ความร่วมมือกับพันธมิตร จะเริ่มเห็นมากขึ้น เช่น การบินไทยงดบินไปสหรัฐอเมริกา แต่มีโปรโมชั่น ไปอเมริกา ราคา 27,900 บาท ไปได้เพราะมีการใช้โค้ดแชร์ กับ สายการบินพันธมิตร ซึ่งบริษัท มีการวางแผนการตลาดอย่างจริงจัง ฝั่งสหรัฐฯ รวมถึงยุโรป เมืองอื่นๆ เป็น100เมือง ซึ่งจะร่วมมือกับพันธมิตรไม่ต่ำกว่า10 สายการบินเป็นการเพิ่มบริการและขยายฐานการตลาดให้ครอบคลุมมากขึ้น "
และเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม บริษัท ได้ใช้ระบบใหม่ 2 ตัว คือ ระบบการบริหารราคาใหม่ (Fare Management System) ทำให้ปรับราคาขายได้รวดเร็วทันสถานการณ์ รับรู้ราคาคู่แข่งทุกวัน สามารถปรับราคาตามกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว และระบบ การบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Management & Optimization) การวางแผนฝูงบิน (Fleet Plan) ซึ่งจะเริ่มปรับเวลาให้สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินได้ดีขึ้น โดยขณะนี้บริษัทมีการวางแผนตารางบินล่วงหน้า 4 ฤดูแล้ว โดยวางแผนไปจนถึงตารางบินฤดูหนาวปี 2561 โดยประเมินว่าการใช้ระบบใหม่จะเพิ่มรายได้ระบบละ 2-3% หรือ 1% จะเท่ากับประมาณ 1,500 ล้านบาท (เมื่อเทียบกับรายได้รวม 150,000 ล้านบาท) ซึ่งจะเริ่มเห็นผลหลังจากนี้ประมาณ 3 เดือน
“ปี 58 หยุดเลือดไหล ส่วนปี 59 เร่งปรับปรุงองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งแผนปฏิรูปมี 20 โครงการ ปี 59 ทำแล้ว 14 โครงการ อีก 6 โครงการจะทำในปี 60 ซึ่งจะเป็นปีแห่งการวางรากฐาน วางระบบเพื่อโตอย่างยั่งยืน” นายจรัมพรกล่าว
ด้านนายธีรพล โชติชนาภิบาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพาณิชย์ การบินไทยกล่าวถึงเหตุระเบิดในหลายพื้นที่ของไทยว่า หลายประเทศออกคำเตือนนักท่องเที่ยวของตัวเองให้ระมัดระวัง เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลักของการบินไทย แต่ไม่ได้ห้ามเดินทาง โดยจะต้องติดตามสถานการณ์ เพราะทั้งภูเก็ตและหัวหินเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งระยะสั้นยังไม่มีผลกระทบ ไม่มีการยกเลิกการเดินทาง โดยมีผู้โดยสารปีละประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งหลังจากนี้หากเหตุการณ์นิ่งไม่มีอะไรเพิ่มเติม ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะต่างประเทศมองเป็นเหตุการณ์ภายในประเทศ
ราคาน้ำมันลดช่วยไตรมาส 2 ขาดทุนไม่มาก
นายจรัมพรกล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2559 กลุ่มบริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน 1,782 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อนถึง 2,931 ล้านบาท (62.2%) สาเหตุหลักเนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินลดลง 3,182 ล้านบาท (21.3%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยลดลง 27.9% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันลดลง 184 ล้านบาท (0.6%) ขณะที่การปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันตามราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้รายได้ค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงเพียง 536 ล้านบาท (1.6%) จากการบริหารด้านราคามีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้รายได้ค่าโดยสารครอบคลุมค่าน้ำมันได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้มีค่าใช้จ่ายผลประโยชน์ตอบแทนโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) จำนวน 427 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 1,873 ล้านบาท แต่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 595 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 2,915 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 9,839 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,921 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 1.34 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 5.85 บาท
ไตรมาส 2 ซึ่งปกติเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากการขยายตัวของสายการบินต้นทุนต่ำ และสายการบินจากตะวันออกกลาง และเหตุก่อการร้ายในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดหลัก ทำให้ไตรมาส 2 ของปี 2559 มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger - Kilometer : RPK) ลดลง 0.6% โดยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat-Kilometer : ASK) ลดลงจากปีก่อน 0.2% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 69.0% ต่ำกว่าปีก่อนเล็กน้อย โดยในเดือนมิถุนายน 2559 บริษัทฯ ได้ปลดระวางเครื่องบินเช่าดำเนินงาน โบอิ้ง 777-200 จำนวน 1 ลำ ทำให้จำนวนเครื่องบินใช้ดำเนินงาน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 รวม 94 ลำ ลดลงจากไตรมาสก่อน 1 ลำ การใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน (Aircraft Utilization) เพิ่มขึ้นเป็น 11.0 ชั่วโมง จาก 10.9 ชั่วโมงในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 5.11 ล้านคน สูงกว่าปีก่อน 0.8%
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 292,895 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 9,576 ล้านบาท (3.2%) จากการชำระคืนเงินกู้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 257,923 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 11,622 ล้านบาท (4.3%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 34,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2558 จำนวน 2,046 ล้านบาท (6.2%)