“จรัมพร” ยันเอียซารับรองมาตรฐานปลอดภัย ไร้ปัญหาการบิน เผยเตรียมใช้ระบบไอที อัปเกรดบริการทุกระบบ เพื่อเพิ่มรายได้และศักยภาพแข่งขัน ส.ค.นี้เริ่มใช้ระบบบริหารค่าตั๋ว ปรับราคาได้ทันสถานการณ์ และระบบบริหารเส้นทางบิน คาดเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่า 3% พร้อมเดินหน้าเปิดบิน เตหะราน และมอสโก หลังตลาดสัญญาณดี ตั้งเป้ากลางปี 60 เปิดบินตรงอเมริกา พร้อมมอนิเตอร์อังกฤษออกจากอียูยังไม่มีผลกระทบ ส่วน Cabin Factor ก.ค.นี้ เฉลี่ยที่ 76.8% ดีกว่าปีที่แล้ว 2%
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในการปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้ซึ่งเป็นระยะที่ 2 ของแผนปฏิรูปองค์กร คือ “สร้างความแข็งแกร่งในการแข่งขัน” นั้น ภายในปี 2559 บริษัทฯ จะเริ่มใช้ระบบใหม่ในการบริหารจัดการต่างๆ ที่มีการทยอยลงทุนไว้ โดยวันที่ 1 ส.ค. จะเริ่มใช้ระบบการบริหารราคาใหม่ (Fare Management System) ซึ่งจะทำให้ปรับราคาขายได้รวดเร็วทันสถานการณ์ จากเดิมใช้เวลา 3 สัปดาห์ เป็นแค่ไม่กี่ชั่วโมง คาดว่าจะเพิ่มรายได้ไม่ต่ำกว่า 3% และภายในเดือน ส.ค.จะเริ่มใช้ระบบการบริหารเครือข่ายเส้นทางบิน (Network Management & Optimization) การวางแผนฝูงบิน (Fleet Plan) ซึ่งจะเริ่มปรับเวลาให้สามารถเชื่อมต่อเที่ยวบินได้ดีขึ้น เช่น เที่ยวบินจากออสเตรเลียไปยุโรป หรือจากญี่ปุ่นไปอินเดีย เป็นต้น โดยคาดว่าระบบนี้จะเพิ่มรายได้ประมาณ 3%
และในไตรมาส 4/59 จะเริ่มใช้ระบบ Service Ring ซึ่งสามารถแจ้งปัญหาขัดข้องบนเครื่องบิน หรือการอัพเกรดที่นั่งจากชั้นประหยัดไปเป็นชั้นธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น ซี่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ถึง 3-5% จากปัจจุบันมีรายได้จากส่วนนี้ไม่ถึง 1% ขณะที่สายการบินอื่นมีรายได้ที่ 6% ส่วนระบบขายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตจะเริ่มใช้ในไตรมาส 1/2560
นายจรัมพรกล่าวว่า ในเดือน ต.ค. 2559 ซึ่งเริ่มตารางบินฤดูหนาว บริษัทฯ จะเปิดเส้นทางบินไปกลับ กรุงเทพฯ-เตหะราน ประเทศอิหร่าน ซึ่งอิหร่านเพิ่งเปิดประเทศ มีประชากร 70-80 ล้านคน เป็นตลาดที่ดีต่อธุรกิจการบิน และเส้นทางกรุงเทพฯ-มอสโก (รัสเซีย) ซึ่งมีแนวโน้มตลาดดีขึ้น และกลางปี 2560 มีแผนเปิดเส้นทางบินตรงไปสหรัฐอเมริกา 1 จุดบิน โดยอยู่ระหว่างวิเคราะห์ระหว่างซานฟรานซิสโก หรือซีแอตเทิล โดยตัดสินใจในแง่การเชื่อมต่อเที่ยวบินและพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ทั้งนี้กรณีที่ประเทศไทยถูกประเมินจาก สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ที่ระดับ category 2 และหากยังไม่สามารถปรับเป็น category 1 ได้อาจจะทำให้กระทบต่อการเปิดเที่ยวบินเข้าสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทฯ อาจต้องหาช่องทางในการเจรจาต่อไป
สำหรับอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ช่วงวันที่1-20 ก.ค.นี้ เฉลี่ยที่ 76.8% ซึ่งไตรมาส 2 เป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low season) แต่ถือว่าปีนี้ดีกว่าช่วง Low season ปีที่แล้ว ประมาณ 2% แต่ยอมรับว่าอัตราผลตอบแทน หรือ Yield ค่อนข้างต่ำเพราะต้องทำโปรโมชันราคาเพื่อแข่งขัน ขณะที่กรณีอังกฤษออกจากยูโรนั้นอยู่ระหว่างมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิด โดยเชื่อว่าคนอังกฤษจะยังคงท่องเที่ยวแต่จะปรับหันมาทางประเทศเอเชียแปซิฟิกมากขึ้นเพราะมีต้นทุนต่ำกว่าไปสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทจะต้องหาทางจูงใจ ซึ่งเส้นทางบินไปอังกฤษในเดือน ก.ค.นี้ ถือว่าดีอยู่
“บริษัทฯ มีการลงทุนเพิ่ม ทั้งระบบบริการและความปลอดภัย เพื่อให้ได้มาตรฐานและแข่งขันได้ และในปีนี้ จะรับมอบเครื่องบิน 2 ลำ คือ แอร์บัส A350 ทยอยรับปลายเดือน ส.ค. และ ก.ย. เพื่อนำมาทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เมลเบิร์น ช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ และในปี 2560 จะรับมอบเครื่องบิน 7 ลำ คือ A350 จำนวน 5 ลำ และโบอิ้ง B787 จำนวน 2 ลำ และมีเครื่องบินรอการขายอีก 11 ลำ โดยภาพรวมการดำเนินงานของบริษัทนั้นยืนยันว่ายังเป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้”
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินในระดับมาตรฐานโลก และมาตรฐานการให้บริการในระดับพรีเมียม โดยหลังจากประเทศไทยถูกติดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2558 ซึ่งบริษัทฯ ได้ทำโครงการ Safety Beyond Compliance ตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งเป็นยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยเป็นสากล โดยยึดเกณฑ์มาตรฐาน องค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) และได้ใบรับรอง TCO ทำให้สามารถทำการบินเข้าประเทศยุโรปได้ รวมถึงจีนที่มีระบบตัดคะแนนสายการบินของประเทศที่ติดธงแดง 5 แต้ม แต่ไม่ตัดแต้มการบินไทย เมื่อบริษัทพิสูจน์เรื่องมาตรฐานที่เชื่อถือได้