xs
xsm
sm
md
lg

“การบินไทย” ยังไม่ฟื้น ปี 58 ขาดทุน 1.3 หมื่นล้าน “จรัมพร” ลั่นแผนปฏิรูปมาถูกทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจรัมพร โชติกเสถียร  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
“การบินไทย” ยังไม่พ้นน้ำ ปิดงบปี 58 ขาดทุนสุทธิ 1.3 หมื่นล้าน ลดลงจากปีก่อนกว่า 2.5 พันล้าน ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงไม่ช่วยมาก เหตุธุรกิจการบินแข่งขันราคารุนแรง แถมรายได้ค่าธรรมเนียมน้ำมันลดลงด้วย ด้าน “จรัมพร” เชื่อแผนปฏิรูปเริ่มเห็นผล ดัน Q4/58 กำไรถึง 5.4 พันล้าน เผยปี 59 เดินเครื่องเต็มสูบ รุกเปิดบินตลาดอาเซียน ฟื้นเส้นทางมอสโก ตั้งงบ 2 พันล้านลดพนักงาน พร้อมเร่งขายเครื่องปลดระวาง 14 ลำ หวั่นขายไม่ออกทำบันทึกด้อยค่าฯ เพิ่ม ฉุดปี 59 ไม่เข้าเป้า

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการปี 2558 (ม.ค.-ธ.ค.) ของบริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิ 13,047 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.99 บาท ลดลงจากปีก่อน 2,526 ล้านบาท (ปี 57 ขาดทุนสุทธิ 15,573 ล้านบาท) ซึ่งขาดทุนลดลง 1.16 บาท โดยมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 3,512 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินและเครื่องบินถึง 12,157 ล้านบาท โดยในปี 2558 มีรายได้รวม 188,747 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.2% ซึ่งในส่วนนี้เป็นรายได้จากค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน 152,488 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1.5% มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยที่ 72.9% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งมี Cabin Factor เฉลี่ย 68.9%

มีจำนวนผู้โดยสาร 21.25 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.3% แต่รายได้ต่อคนต่อกิโลเมตร (Yield) ลดลงประมาณ 7% ในขณะที่รายได้รวมลดลง 1.2% โดยรายได้จากค่าโดยสารลดลง 1.5% และรายได้ค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ลดลง 21.0% เนื่องจากการแข่งขันด้านราคา และค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) ลดลง, การแข็งค่าของเงินบาท ส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานไม่รวมน้ำมันอยู่ที่ 121,242 ล้านบาท ลดลง 7,739 ล้านบาท หรือลดลง 6% ขณะค่าใช้จ่ายเฉพาะน้ำมันเครื่องบินลดลง 15,988 ล้านบาท หรือลดลง 20.2%

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ผลประกอบการปี 2558 ดีขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากผลประกอบการช่วงไตรมาส 4/2558 (ต.ค.-ธ.ค.) มีกำไรสุทธิถึง 5,400 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่ขาดทุน 6,200 ล้านบาท โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงาน 3,700 ล้านบาท และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,800 ล้านบาท มีรายได้ที่ 49,900 ล้านบาท ขณะช่วงเดียวกันของปี 2557 มีรายได้ 44,000 ล้านบาท มี Cabin Factor ที่ 72.5% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 70.8% ส่วนผู้โดยสารมี 5.4 ล้านคน เพิ่มจากปีก่อนที่มี 5.3 ล้านคน ขณะที่ Yield ลดลงอยู่ที่ 2.47 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร ขณะปีก่อนอยู่ที่ 2.65 บาทต่อคนต่อกิโลเมตร

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559 ตามแผนปฏิรูปองค์กรนั้น จะมุ่งการเพิ่มรายได้และขยายธุรกิจมากขึ้น จากปี 2558 ที่เน้นลดรายจ่ายทั้งบุคลากร การปรับลดเส้นทางบิน จำหน่ายเครื่องบิน ซึ่งเชื่อว่าในปี 2559 ผลประกอบการจะมีกำไร โดยตั้งเป้า Cabin Factor เฉลี่ยไว้ที่ 80% โดยมีแผนจะเปิดเส้นทางบินใหม่ในภูมิภาคอาเซียนประมาณ 3-4 เส้นทาง โดยใช้สายการบินไทยสมายล์ให้บริการ และมีแผนจะเปิดบินเส้นทางมอสโก ประเทศรัสเซียอีกครั้ง หลังจากหยุดบินไปเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2558 คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ช่วงตารางการบินฤดูหนาวเดือน ต.ค.นี้

ซึ่งตามแผนปรับปรุงฝูงบิน (Fleet Strategy) ทำให้ฝูงบิน ณ 31 ธ.ค. 2558 มีจำนวน 95 ลำ ลดลงจากปีก่อนที่มีจำนวน 102 ลำ โดยยังคงเดินหน้าแผนลดค่าใช้จ่ายต่อไปแต่ไม่ถึง 10% เท่ากับปี 2558 ส่วนโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) สำหรับพนักงานทั่วไป และโครงการ Golden Handshake สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,401 คน มีผลแล้วในปี 2558 จำนวน 1,277 คน ในปีนี้เตรียมเงินสำหรับการปรับลดพนักงานประมาณ 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนใช้งบประมาณ 5,500 ล้านบาท โดยให้ 5 หน่วย คือ บริการภาคพื้นและลานจอด การขนส่งสินค้าทางอากาศ ซ่อมบำรุง ครัวการบิน และการให้บริการผู้โดยสาร พิจารณาความเหมาะสมระหว่างปริมาณงานกับพนักงานมายังฝ่ายบริหารว่าจะต้องปรับลดพนักงานเท่าไหร่ โดยให้สมัครใจลาออก

นายจรัมพรกล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 2559 จะดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้จากการขายตั๋วโดยสาร 1.86 แสนล้านบาท และปี 2557 มีรายได้ 1.48 แสนล้านบาท โดยคาดว่า Cabin Factor ปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาที่ 80% ส่วนการรับมอบเครื่องบินนั้น ตามแผนเดิมจะต้องรับมอบเครื่องบินใหม่ 14 ลำ ช่วงกลางปีรับมอบ 2 ลำ เป็น เครื่องบินแอร์บัส A350 และในปี 60 รับมอบอีก 7 ลำ เป็นแอร์บัส A350 จำนวน 5 ลำ และโบอิ้ง B787 จำนวน 2 ลำ และในปี 61 รับมอบอีก 5 ลำ เป็นแอร์บัส A350 ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องการทบทวนแผนรับมอบเครื่องบิน เพราะบริษัทยังไม่ต้องการลงทุนเพิ่มเนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิต

ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและบัญชี การบินไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้มีกำไรในไตรมาส 4/2558 เพราะมีการบันทึกรายการพิเศษ เนื่องจากได้รับค่าชดเชยในการฟ้องร้องกับบริษัท โคอิโตะ (KOITO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตและติดตั้งเก้าอี้ผู้โดยสารในชั้นประหยัดของเครื่องบินแอร์บัส A 330-300 จำนวน 5 ลำ กรณีติดตั้งไม่ได้มาตรฐานตามองค์กรกำกับดูแลความปลอดภัยของประเทศญี่ปุ่นและยุโรป อีกทั้งมีการปรับวิธีการจัดการค่าซ่อมบำรุง และจำนวนผู้โดยสารดีขึ้น

ส่วนผลขาดทุนจากการด้อยค่าของทรัพย์สินและเครื่องบินที่สูงถึง 12,157 ล้านบาทนั้นเพราะยังมีเครื่องบินปลดระวางที่รอการขายอีก 14 ลำ ซึ่งเป็นเครื่องบินพิสัยไกลที่เคยใช้บินเส้นทางลอสแองเจลิสกับนิวยอร์ก รวม 10 ลำ คือ แอร์บัส A340-500 จำนวน 4 ลำ และ A340-600 จำนวน 6 ลำ และหากในปี 2559 ยังไม่สามารถจำหน่ายได้ การบันทึกด้อยค่าฯ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2558 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 302,471 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 4,796 ล้านบาท (1.6%) โดยส่วนใหญ่จากการด้อยค่าของเครื่องบิน หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 269,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,574 ล้านบาท (1.3%) และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 32,926 ล้านบาท ลดลง 8,370 ล้านบาท (20.3%)
กำลังโหลดความคิดเห็น