xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ไฟเขียวพัฒนาอู่ตะเภาและท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ - ช่างบินไทยร้องถูกไล่ที่แสมสาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีถึงระยอง ดีใจได้มาอีก ขอให้สรุปความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ใช้ศักยภาพให้เต็มที่ หวังสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหลังพัฒนาลอจิสติกส์สมบูรณ์ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อม 3 สนามบิน พัฒนาท่าเรือน้ำลึก ก่อนเห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมฯ บินไทย ขอพนักงานให้ช่วยปฏิรูป ช่างร้องโดนไล่ที่ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ ก่อนตะโกนให้อยู่ต่ออีก 10 ปี เจ้าตัวชี้มาทางสื่อบอกเขาดูอยู่



วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางลงพื้นที่ติดตามผลการปฏิบัติราชการ จ.ระยอง โดยมี พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร.นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าฯจ.ระยอง ให้การต้อนรับ

ต่อมานายกฯ ประชุมร่วมกับส่วนราชการและภาคเอกชน ติดตามแนวทางการดำเนินงานพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสาร และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (จ.ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) โดยนายกฯ กล่าวว่าดีใจที่ได้กลับมาที่นี่อีกครั้ง ปีนี้ขอให้สรุปความคืบหน้าที่เห็นเป็นรูปธรรม เรามีศักยภาพในประเทศอยู่มากจึงต้องใช้ให้เต็มที่ โดยรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้เต็มศักยภาพ เพื่อให้การเกษตร อุตสาหกรรม และท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อมกัน โดยเฉพาะ จ.ระยอง มีรายได้สูงสุดของประเทศ เป็นอันดับ 1 ในจีดีพีต่อหัว เชื่อว่าจะสามารถสร้างได้เพิ่มมากขึ้น หลังโครงการพัฒนาโลจิสติกเหล่านี้สำเร็จโดยบริบูรณ์ จึงขอเป็นกำลังใจและขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นผลงานร่วมกันของทุกคนร่วมกัน และอยากให้ประชาชนรู้ว่ากองทัพไทย และกองทัพเรือให้ความร่วมมือ สร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติ และประชาชน

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวสรุปภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจของบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกว่า บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเลียมเคมีของประเทศคิดเป็นเงินลงทุนร้อยละ 36 ของประเทศ (1.9 ล้านล้านบาท) ผลิตภัณฑ์มวลรวมสาขาอุตสาหกรรมสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท (ร้อยละ 39) โดยรัฐบาลมีนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม มุ่งเน้นพัฒนาระบบขนส่งทางรางและสร้างโครงข่ายมอเตอร์เวย์ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางและลดเวลาในการขนส่งสินค้าลดต้นทุนลอจิสติกส์ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางโดยจะเชื่อมเมืองหลัก และเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านลอจิสติกส์มุ่งเน้นเป็นศูนย์กลางการคมนาคมพัฒนาเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค และด้านการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะพลังงานสะอาด เช่น ระบบรถไฟความเร็วสูง กทม. พัทยา ระยอง พร้อมสร้างท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมโยงอ่าวไทย พัทยา จุกเสม็ด ชะอำ และพัทยา เสม็ด เกาะช้าง เป็นต้น

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน โดยเตรียมร่างกฎหมายสนับสนุนการลงทุน พร้อมจะพัฒนาต่อยอดความพร้อมด้านอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต เพื่อทำให้นักลงทุนทั่วโลกรู้จักด้วยอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี สำหรับความสำเร็จในการลงทุนของภาคเอกชนในระยะเวลาอันใกล้ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีเอกชนพร้อมลงทุนไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปี ได้แก่ อุตสาหกรรมเป้าหมาย 500,000 ล้านบาท โครงสร้างพื้นฐาน 400,000 ล้านบาท ที่อยู่อาศัย โรงเรียน โรงพยาบาล 400,000 ล้านบาท และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 200,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกคือการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ข้างเคียง

จากนั้น นายกฯ ได้สอบถามและเร่งรัดแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ ถนน ราง ท่าเรือและอากาศ โดยเร่งรัดให้ดำเนินการให้รวดเร็ว ตอบสนองการพัฒนาทั้งระบบ โครงการหรือแผนงานได้มีงบประมาณแล้วก็เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบเวลาหรือรวดเร็วกว่านั้น ที่สำคัญจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่าง 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา สำหรับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดนั้นมีความสำคัญที่จะช่วยยกศักยภาพเรื่องการขนส่งและการท่องเที่ยวเช่น จุดจอดเรือยอชต์ และเชื่อมกับภูเก็ต จุดจอดเรือเฟอรี่ ที่สำคัญที่สุดจะต้องดูเรื่องการเชื่อมโยงไปท่าเรืออื่นๆ เช่น แหลมฉบัง และสนามบินด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ Curve ขอให้พิจารณาเรื่องธุรกิจสีเขียวและวางแผนให้ชัดเจน รวมทั้งเร่งแก้ปัญหา เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ต้องไปดูให้ละเอียดและแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ

โดยนายกฯ ได้เห็นชอบแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และมอบหมายให้จัดทำแผนปฏิบัติการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หากมีประเด็นข้อกฎหมายหรืออุปสรรคให้รีบนำเสนอเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว ทั้งนี้ ขอให้รับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่และสร้างความเข้าใจว่าการพัฒนานี้จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสและยกรายได้ของประเทศ อย่างยั่งยืน

จากนั้นเวลา 11.00 น. นายกฯ ได้ตรวจเยี่ยมศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งที่ 2 (อู่ตะเภา) ของบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) โดยมีนายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ประธานกรรมการบริษัท และนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ร.อ.มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน และ ร.ท.เฉลิมพล อินทรวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายช่าง พร้อมฝ่ายบริการและช่างซ่อมบำรุงให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ นายจรัมพรได้สรุปถึงศักยภาพของศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา และความคืบหน้าของการพัฒนาศูนย์ซ่อมให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล ที่จะพัฒนาให้ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งศูนย์ซ่อมแห่งนี้เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 พื้นที่ 150 ไร่ มีขีดความสามารถในการซ่อมใหญ่ (Heavy Maintenance) สำหรับเครื่องบินลำ ตัวกว้างแบบโบอิ้ง 747, 777 แอร์บัส เอ 330 และเครื่องบินลำตัวแคบแบบโบอิ้ง 737 โดยมีโรงซ่อมอากาศยาน (Hangar) ขนาดใหญ่สามารถนำเครื่องบินเข้าซ่อมบำรุงพร้อมกันได้ 3 ลำ ดำเนินการซ่อมเฉลี่ยปีละ 20 ลำ ทั้งนี้ ศูนย์ซ่อมอากาศยานดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงและมีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากลการบินไทย รวมทั้งมีความพร้อมที่จะสนองตอบนโยบายของรัฐบาลในการร่วมพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวการคมนาคมขนส่งทางอากาศในอนาคต ทั้งระดับประเทศและภูมิภาคอาเซียน

ทันทีที่มาถึง นายกฯ กล่าวกับพนักงานการบินไทยที่มาต้อนรับว่า ขอให้ช่วยๆ ปฏิรูป ขณะเดียวกันทางช่างซ่อมบำรุงได้ยื่นหนังสือต่อนายกฯ ร้องเรียนขอความช่วยเหลือกรณีถูกไล่ที่อยู่อาศัยในที่พัสดุพื้นที่อยู่อาศัย ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการไล่ที่อยู่ เนื่องจากการจัดระเบียบของภาครัฐ โดยภาครัฐได้รับการร้องเรียนว่ามีนายทุนบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวซึ่งการจัดระเบียบส่งผลให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบกว่าพันครัวเรือน ทั้งนี้ นายกฯ ได้ส่งมอบเอกสารร้องเรียนให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับไปพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากศูนย์ซ่อมบำรุง นายกฯ ได้ร่วมถ่ายภาพกับบรรดาช่างซ่อมบำรุง โดยช่างซ่องบำรุงตะโกนให้กำลังใจในการทำงาน พร้อมขอให้อยู่ต่ออีก 10 ปี โดยนายกฯ ได้ชี้มาสื่อมวลชนที่ติดตามมาทำข่าว โดยบอกว่าต้องบอกสื่อเพราะเขาดูอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น