xs
xsm
sm
md
lg

เกษตรกรภาคกลาง 8 จังหวัดเข้าร่วมฟังการชี้แจงข้อตกลง TPP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เกษตรกรภาคกลางจาก 8 จังหวัดเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงข้อตกลง TPP พร้อมแสดงข้อกังวลและข้อห่วงใย ด้าน “พาณิชย์” ยืนยันไม่กระทบพันธุ์พืชท้องถิ่น และไม่ปล่อยพืช GMOs เข้ามา

นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่เพื่อจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับความตกลง TPP และการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ภายใต้อนุสัญญา UPOV 1991 แก่เกษตรกรภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดที่สำคัญของไทย โดยมีผู้แทนจากสภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาเกษตรกรจังหวัด เครือข่ายเกษตรกร ภาควิชาการและภาคประชาสังคมจาก 8 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา อ่างทอง ปทุมธานี สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี และนนทบุรี กว่า 150 คน เข้าร่วมการสัมมนา ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับทราบข้อเสนอของเกษตรกรที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ ได้แก่ การให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับปรุงพันธุ์พืช การจดทะเบียนคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ และการเก็บเมล็ดพันธุ์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อให้มีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไว้ใช้เพาะปลูกฤดูกาลถัดไป รวมทั้งใช้มาตรการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นและพืชพื้นเมืองของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดทำแผนพัฒนาภาคเกษตรไทยที่มีเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถการผลิตของภาคเกษตรไทย

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรเกี่ยวกับความตกลง TPP และคลายข้อห่วงกังวลว่าพันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยจะสูญหายจากการปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ของต่างชาติ ซึ่งภาครัฐได้จัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์พืช โดยรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยเพื่อไม่ให้พันธุ์พืชท้องถิ่นของไทยสูญหาย รวมทั้งเพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีเป็นทางเลือกในการเกษตร สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการปนเปื้อนพืช GMOs ในพันธุ์พืชท้องถิ่นของไทย ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ที่ห้ามนำเข้าพืช GMOs ยกเว้นถั่วเหลืองและข้าวโพดเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น” นายวินิจฉัยกล่าว

นอกจากนี้ เกษตรกรยังมีข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ตามความตกลง TRIPs ภายใต้ WTO ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่แล้ว ส่วนการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาบูดาเปสต์ เป็นเพียงการยอมรับศูนย์เก็บจุลินทรีย์ระหว่างประเทศ เพื่อใช้ข้อมูลของศูนย์ดังกล่าวประกอบการจดสิทธิบัตรเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น