ร.ฟ.ท.ปั้น 25 ย่านสถานีตามแนวรถไฟทางคู่ทั่วประเทศพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพิ่มรายได้จากที่ดินตามแผนฟื้นฟูกิจการ คาดสรุปผลศึกษาปลายปี 59 ชงบอร์ด ร.ฟ.ท.จัดลำดับลงทุนแต่ละแปลง ขณะที่ปรับสัญญาผู้เช่าเดิมเป็นชั่วคราว 1-3 ปี เพื่อรับการลงทุนใหม่ ด้าน “อาคม” เตรียมจัดรถไฟทางคู่อีก 7 สายลงทุนในแผนปี 60 วงเงินกว่า 3 แสนล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมจัดทำการรับฟังข้อคิดเห็นของนักลงทุน (Market Sounding) ภายใต้โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามเส้นทางรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง จำนวน 12 ย่านสถานี ว่าเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟมีประสิทธิภาพมากขึ้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยที่ดินของ ร.ฟ.ท.มีจำนวนมาก แต่ให้เช่าใช้ประโยชน์ในราคาถูกมาก ดังนั้นจะต้องปรับปรุงอัตราค่าเช่าให้เป็นปัจจุบันและก่อให้เกิดธุรกิจ การให้บริการการพัฒนาภายในสถานี รวมถึงเกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์รอบสถานีเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเกิดผลตอบแทนให้ ร.ฟ.ท.นำมาใช้คืนการลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ได้
ทั้งนี้ การพัฒนาไม่ใช่แค่ต้นทางหรือปลายทางเท่านั้น แต่เมื่อสร้างรถไฟไปรองรับแล้วต้องสร้างความต้องการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่างๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงแรมในหลากหลาย หรือบูทีคโฮเต็ล และการจำหน่ายสินค้าในท้องถิ่น จะต้องพัฒนาขึ้นมาร่วมเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจกลับคืนการลงทุนรถไฟทางคู่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกินการ อยู่ระหว่างการเสนอแผนต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)
นอกจากนี้จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ, ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม, มีความเป็นไปได้เชิงสังคมและชุมชนซึ่งต้องทำความเข้าใจกับผู้เช่าใช้พื้นที่เดิม เปิดให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือร่วมถือหุ้นและบางแห่งอาจต้องใช้การจัดรูปที่ดิน นอกจากนี้ยังมีสถานีร่วมระหว่างรถไฟทางคู่กับรถไฟความเร็วสูง เช่น รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-พิษณุโลก มีสถานีร่วมที่นครสวรรค์, กรุงเทพ-นครราชสีมา มีสถานีร่วมที่โคราช เป็นต้น
“การให้บริการรถไฟทั่วโลก รายได้จากการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ (Non Fare Revenue) สูงกว่ารายได้จากค่าโดยสาร (Fare Revenue) สัดส่วนประมาณ 70 : 30 หรือ 60 : 40 ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการพัฒนา ส่วนรัฐบาลนั้นเร่งการลงทุนรถไฟทางคู่อย่างจริงจังเพื่อฟื้นฟูกิจการรถไฟในทุกมิติ ซึ่งเอกชนรับทราบถึงจุดนี้แล้วจะมั่นใจในการเข้าร่วมในการพัฒนาเชิงพาณิชย์มากขึ้น” นายอาคมกล่าว
ปี 60 ลงทุนรถไฟทางคู่เพิ่มอีก 7 เส้นทาง
นายอาคมกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง และปรับปรุงประสิทธิภาพรถไฟ ซึ่งในแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558-2559 มีโครงการรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 23,802.53 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2. ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กม, วงเงิน 17,249.90 ล้านบาท ครม.เห็นชอบแล้ว อยู่ระหว่างเตรียมประกวดราคา 3. ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม. วงเงิน 26,004 ล้านบาท 4. ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กม. วงเงิน 20,036.53 ล้านบาท 5. ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กม. วงเงิน 24,840.54 ล้าน และ 6. ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 กม. วงเงิน 10,301.95 ล้านอยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม.
ขณะที่ในแผนปฏิบัติการปี 2560 จะเพิ่มอีก 7 เส้นทาง ประกอบด้วย 1. ปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 64,921.05 ล้านบาท 2. เด่นชัย-เชียงใหม่ วงเงิน 63,353.88 ล้านบาท 3. ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 49,951.13 ล้านบาท 4. ขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 23,727.34 ล้านบาท 5. ชุมพร-สุราษฎร์ธานี วงเงิน 34,726.36 ล้านบาท 6. สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา วงเงิน 51,065.38 ล้านบาท 7. หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 13,271.20 ล้านบาท ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในการเพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่ทั่วประเทศเป็น 13 เส้นทาง
รถไฟปรับสัญญาเช่าเป็นชั่วคราว 1-3 ปีรอรับการพัฒนาแบบใหม่
นายปาณฑพ มาลากุล ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.(กลุ่มธุรกิจด้านบริหารทรัพย์สิน) กล่าวว่า ตามแผนแม่บทจะมีการพัฒนา 25 สถานี ซึ่งได้ศึกษาไปแล้ว 13 ย่านสถานี ได้แก่ กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, อรัญประเทศ-คลองลึก, พิษณุโลก, อุตรดิตถ์, นครลำปาง, เชียงใหม่, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, ขอนแก่น, หัวหิน หาดใหญ่ และในปี 2559 ร.ฟ.ท.ได้จ้างที่ปรึกษาวงเงิน 13 ล้านบาท ศึกษาเพิ่มอีก 12 ย่าน (14 แปลง) ระยะเวลา 6 เดือน (มิ.ย.-พ.ย. 2559) โดยทบทวนแผนแม่บทเดิมพร้อมวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาและแนวทางการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เนื่องจากแต่ละย่านสถานีมีข้อจำกัดแตกต่างกัน การพัฒนาจะมีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ธนบุรี พื้นที่ 147.93 ไร่ ,ศรีราชา พื้นที่ 96.21 ไร่, นครสวรรค์ พื้นที่ 297.56 ไร่, ศิลาอาสน์ พื้นที่ 381.36 ไร่,ปากช่อง พื้นที่ 47.965 ไร่,ชุมทางบัวใหญ่ พื้นที่ 100 ไร่, หนองคาย พื้นที่ 200.16 ไร่, อุบลราชธานี พื้นที่ 196.97 ไร่, ทางแยกสายบุ่งหวาย พื้นที่ 3.13 ไร่, โพธิ์มูล พื้นที่ 150 ไร่, ชะอำ พื้นที่ 50 ไร่, ชุมพร พื้นที่ 107.15 ไร่ สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 111.31 ไร่, พังงา-ท่านุ่น พื้นที่ 860 ไร่
“ปัจจุบันรถไฟทำสัญญากับผู้เช่าแบบชั่วคราว 1 ปี 3 ปี สูงสุดไม่เกิน 5 ปี เพื่อเตรียมพร้อม โดยหากผลการศึกษาออกมาแล้วกระทบต่อสัญญาผู้เช่าเดิม ต้องเจรจากับผู้เช่าเพื่อขอคืนสัญญาเพื่อนำมาพัฒนา ซึ่งเมื่อสรุปผลศึกษาจะเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท. จากนั้นจะมีการจัดลำดับการพัฒนาในแต่ละสถานี โดยดูศักยภาพและความสนใจของนักลงทุน”