กระทรวงอุตสาหกรรมเข็นร่าง พ.ร.บ.EEC เข้า ครม.สิงหาฯ นี้ หวังนำไปสู่การพัฒนารูปแบบเมืองใหม่ในอนาคตของพื้นที่ จ.ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา คาดดึงเงินลงทุน 1.5 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมดันกรอบยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 วางอนาคตอุตสาหกรรมไทยระยะยาว
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่อยู่ระหว่างการเวียนรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสนอเข้าไปยังสำนักงานคณะกรรมการเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 สัปดาห์หรือภายในสิงหาคมนี้เพื่อที่จะขับเคลื่อนการลงทุนของประเทศโดยการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด (ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา) จะลงรายละเอียดของแผนอย่างชัดเจนที่จะเป็นรูปแบบของเมืองใหม่ในอนาคต
“พ.ร.บ.EEC ก็จะมีความชัดเจนถึงการพัฒนาทั้งสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 มีสถานที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม มีท่าเรือที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรูปแบบเมืองใหม่ และเอกชนมีความพร้อมที่จะลงทุนอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า และยังเป็นการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนเพราะพื้นที่นี้มีศักยภาพโดยเฉพาะการมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” นางอรรชกากล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมนำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ระยะเวลา 20 ปีและแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมฉบับที่ 4 (ปี 2560-2564) หรือแผน SMEs 4.0 ซึ่งจะเสนอเข้า ครม.ภายในเดือนสิงหาคมนี้เช่นเดียวกัน โดยแผนดังกล่าวได้หารือกับเอกชนในการร่วมกันทำแผนปฏิบัติการ (แอ็กชันแพลน) รวมถึงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแผนดำเนินงานทั้งระยะสั้นและยาวซึ่งแผนทั้งหมดจะมีส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยที่จะมุ่งสู่เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ และปรับกระบวนการผลิตที่ใช้ดิจิตอลมากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว (อรัญประเทศ) คาดว่าจะก่อสร้างได้ปลายปีนี้และดำเนินการได้ในปี 2561 ส่วนนิคมฯ แม่สอด จ.ตาก และนิคมฯ สงขลา (สะเดา) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปลายปี 2560 และเปิดดำเนินการได้ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ยังอยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส บนพื้นที่ 1,700 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่พัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานหนัก คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้
“นโยบายต่างๆ เหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคตโดยเฉพาะการดึงดูดการลงทุนที่รัฐได้กำหนดเป้าหมายทั้งอุตสาหกรรมในอนาคตและพื้นที่รองรับไว้อย่างเป็นระบบ และมั่นใจว่าการลงทุนจะทยอยเข้ามาชัดเจนในครึ่งปีหลังปีนี้ และต่อเนื่องในอนาคตโดยเฉพาะปี 2560 โดยล่าสุดการขอรับส่งเสริมการลงทุน10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดือน ม.ค.-พ.ค. 2559 มี 280 โครงการมูลค่า 91,875 ล้านบาท” นางอรรชกากล่าว