“กฟผ.” วางงบลงทุนสร้างกำลังการผลิตและระบบส่งในอีก 10 ปีข้างหน้า 1.2 ล้านล้านบาทรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม ลุ้นรัฐบาลเคาะแผนสายส่งรับโรงไฟฟ้าไอพีพีกลุ่มกัลฟ์ฯ หวังเสนอ ครม.ต้นปี 2560 พร้อมวอนมิจฉาชีพอย่าตัดเหล็ก-นอตเสาส่งไฟแรงสูงไปขาย ทั้งอันตรายและทำลายระบบเศรษฐกิจ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า แผนการลงทุนของ กฟผ.ในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2558-2568) คิดเป็น 1.2 ล้านล้านบาทแบ่งเป็นระบบผลิตและสายส่งอย่างละครึ่งโดยระบบส่งนั้นและการผลิตไฟดังกล่าวจะต้องเร่งวางแผนลงทุนเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015) ที่คาดว่าในอีก 5 ปีความต้องการใช้ไฟจะอยู่ราว 5,000 เมกะวัตต์
“ระบบส่งมีความสำคัญมาก หากไฟฟ้าตกไฟฟ้าดับจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุก 1 หน่วยจะมีมูลค่า 80 บาท ดังนั้น กฟผ.จึงต้องเร่งดำเนินการทุกอย่างเพื่อให้เป็นไปตามแผน ไม่เช่นนั้นจะกระทบความมั่นคงไฟฟ้าได้” นายสหรัฐกล่าว
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนระบบสายส่งรวม 6 00,000 ล้านบาทใน 10 ปีข้างหน้านั้น การระดมทุนก่อสร้างขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ แต่ยังติดปัญหาเพดานหนี้สาธารณะอาจจะต้องใช้ระบบกองทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานมาระดมทุน แต่ระบบนี้จะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4-5% จากอัตราการกู้เงินที่จะอยู่ระดับ 2-3% เท่านั้น
สำหรับการก่อสร้างสายส่งรองรับโครงการรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่ (IPP) รอบที่ 3 ที่บริษัท Independent Power Development ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ กับบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปะนี (ไทยแลนด์) จำกัด กำลังผลิต 5,000 เมกะวัตต์เป็นผู้ชนะ ซึ่ง กฟผ.จะต้องลงทุนก่อสร้างสายส่งไปรับมูลค่า 7,500 ล้านบาท แต่หากรัฐบาลพิจารณาว่าจะอนุมัติให้กัลฟ์สร้างเพียงสัญญาเดียว การลงทุนก่อสร้างสายส่งจะลดลงเหลือประมาณ 600 ล้านบาทเท่านั้น เรื่องนี้ กฟผ.กำลังจัดทำรายละเอียดการก่อสร้างสายส่งเพื่อเสนอบอร์ด กฟผ.ซึ่งจะเป็นการดำเนินการรองรับการตัดสินใจของรัฐบาลว่าจะอนุมัติให้กัลฟ์ก่อสร้างอย่างไร โดยคาดว่าจะต้องเสนอ ครม.เพื่ออนุมัตก่อสร้างภายในต้นปี 2560
นายบุญมาก สมิทธิลีลา รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ. กล่าวถึงมาตรการดูแลระบบส่งไฟฟ้าจากมิจฉาชีพว่าอยากขอความร่วมมือชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงให้ช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มิจฉาชีพมาขโมยตัดเหล็กฉาก หัวนอต หรือวงแหวนไปขาย เนื่องจากเป็นอันตราย และสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมากไม่ต่ำกว่า 20 เท่า ซึ่งปัจจุบันลดลงมากแต่ยังพบปัญหาอยู่ โดยคำนวณจากค่าไฟฟ้า 1 หน่วย 3.70 บาท สร้างความเสียหายประมาณ 80 บาท จากธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจโรงแรม อุตสาหกรรมต่างๆ บางบ้านมีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องมือแพทย์ที่ใช้ไฟฟ้า ยิ่งสร้างความเดือดร้อนอันตรายถึงชีวิต