รัฐมนตรี 16 ประเทศเห็นพ้องผลักดันการเจรจา RCEP ให้จบภายในปีนี้ มอบคณะกรรมการเจรจาไปหารือให้ได้ข้อสรุปในการประชุมวันที่ 12-19 ส.ค.นี้ ย้ำต้องเปิดเสรีทั้งด้านการค้า บริการ และการลงทุนที่ชัดเจน ไทยหนุนสุดตัว เหตุช่วยสร้างโอกาสส่งออกสินค้าที่เจอกีดกัน ส่วนการหารือกับรัสเซียตกลงศึกษาเปิดเสรีกรอบอาเซียน-ยูเรเซีย พร้อมทบทวน FTA กับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และหารือทำ FTA กับแคนาดา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการหารือของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ที่ สปป.ลาว ว่า อาเซียนได้ประชุมร่วมกับคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เพื่อติดตามความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ย้ำให้การเจรจาจะต้องสรุปผลภายในปี 2559 นี้ และได้มอบหมายให้คณะกรรมการเจรจาการค้า RCEP ที่จะประชุมกันในวันที่ 12-19 ส.ค. 2559 หารือกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยข้อสรุปจะต้องมีการเปิดเสรีอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเจรจาการค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ ไทยได้สนับสนุนการเจรจา RCEP ให้ได้ข้อยุติตามที่กำหนดไว้ เพราะ RCEP เป็นตลาดใหญ่มีจีดีพีรวมกันกว่า 22.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29% ของจีดีพีโลก รองรับการส่งออกของไทยกว่า 55% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และยังมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะสามารถทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ได้
“ที่สำคัญ หากการเจรจา RCEP สำเร็จจะช่วยสร้างโอกาสในการส่งออกให้กับสินค้าไทยที่ยังถูกสมาชิกกีดกันด้วยภาษีนำเข้า เช่น น้ำตาล มันสำปะหลัง อาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง และปิโตรเคมี เป็นต้น”
นางอภิรดีกล่าวว่า สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยอาเซียนและคู่เจรจาบวก 6 กับสหรัฐฯ และรัสเซีย ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจปัจจุบันที่ซบเซา และการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ ซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และทำให้ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายเชิงปกป้องมากขึ้น โดยเห็นควรที่จะให้เร่งการเจรจา RCEP ให้เสร็จโดยเร็ว รวมถึงการผลักดันผลสำเร็จการเจรจารัฐมนตรี WTO ที่ให้ความสำคัญต่อการเจรจาสินค้าเกษตร และผลการประชุมรัฐมนตรีการค้า G20 ที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ส่วนการหารือกับรัสเซีย ได้ตกลงที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการเปิดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียเพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยปัจจุบันสมาชิกอาเซียนที่ได้จัดทำความตกลงกับสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียแล้วคือเวียดนาม โดยสิงคโปร์และกัมพูชาได้ยื่นขอเจรจาแล้ว ส่วนอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย แสดงความสนใจที่จะเจรจา ทั้งนี้ รัสเซียได้สนับสนุนข้อเสนอของไทยในเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร เพราะอาเซียนเป็นผู้ส่งออกอาหารหลักของโลก ซึ่งไทยได้แจ้งว่าอยู่ระหว่างการจัดตั้งโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร และยังได้ขอให้ใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเครื่องมือในการค้าขายระหว่างอาเซียนกับรัสเซียเพื่อช่วยเหลือ SMEs
ขณะที่การหารือกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ตกลงที่จะทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) โดยจะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2560 และตั้งเป้าหมายสรุปผลภายใน 2 ปี ซึ่งไทยขอให้เน้นการปรับปรุงที่เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น การจัดทำกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้ทันสมัย และการปรับปรุงข้อบทการค้าบริการ การลงทุน เป็นต้น และการหารือกับแคนาดา ได้เห็นชอบการจัดตั้งกลไก ASEAN-Canada Trade Policy Dialogue ที่จะเป็นกลไกในการหารือประจำปีระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อขยายมูลค่าการค้าการลงทุน และกำหนดแผนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายภายหลังปี 2563 รวมถึงการหารือถึงการทำ FTA ระหว่างกันด้วย