“ดร.ซุป” แนะรัฐเร่ง 4 ด้าน พัฒนาคน โครงสร้างพื้นฐาน กฎหมาย และเจรจาการค้าเสรี เพื่อผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เผยเศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่โตอย่างที่หวัง เหตุแรงกระตุ้นเพิ่งเริ่ม โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ส่วนภาคส่งออกก็ยังไม่ดี เชื่อปีนี้โตแรง 5% ทำได้แน่หรือมากกว่า ระบุการค้าโลกน่าห่วง หลายชาติแข่งออกมาตรการกีดกัน จี้ WTO เข้ามาคุม
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และเลขาธิการที่ประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) เปิดเผยภายหลังการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจยุคใหม่สู่การค้าที่ยั่งยืน” ในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงพาณิชย์ครบรอบ 94 ปี วันนี้ (20 ส.ค.) ว่า มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลชุดใหม่ให้เร่งดำเนินการใน 4 ด้าน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาคน โดยเพิ่มทักษะด้านการศึกษาและด้านวิชาชีพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน เช่น การเปิดด่านอาจจะเปิดนานขึ้นและยาวขึ้น การพัฒนาสถาบันด้านกฎหมาย ที่จะต้องผลักดันให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล และการผลักดันการเจรจาการค้าเสรี โดยเฉพาะกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่อาเซียนเจรจากับ 6 ประเทศ จะต้องผลักดันให้สำเร็จโดยเร็ว
ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ เชื่อว่าแนวทางที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการเน้นการลงทุนของภาครัฐ ในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะจะกระตุ้นให้การลงทุน และความเชื่อมั่นของเอกชนมีมากขึ้น เนื่องจากการส่งออกของไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวไม่มากนัก และไม่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้มาก ขณะที่การผลักดันให้เกิดการค้าชายแดน ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ต้องเร่งดำเนินการ
“เศรษฐกิจไทยปีนี้คงจะโตอย่างที่หวังได้ยาก เพราะการลงทุนภาครัฐเพิ่งเริ่มในไตรมาส 3 ซึ่งล่าช้ามาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัว การส่งออกขยายตัวไม่มาก แม้กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนร่วมกันทำงานอย่างเต็มที่ เพราะตลาดไม่เอื้ออำนวย มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้จากการลงทุนภาครัฐเป็นตัวนำ และการค้าขายของไทยกับอาเซียน รวมถึงประเทศที่มีศักยภาพ อย่างจีน และอินเดีย คาดว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะบวก แต่บวกเท่าไรคาดไม่ได้ ส่วนปีหน้าน่าจะเป็นบวกได้แน่ 5% อาจจะได้เห็นหรืออาจจะมากกว่า 5% ด้วยซ้ำ” นายศุภชัยกล่าว
นายศุภชัยกล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจของยุโรป มีหลายคนมองว่าเศรษฐกิจยุโรปอาจเกิดการถดถอยลงเป็นครั้งที่ 3 เพราะเศรษฐกิจประเทศหลักๆ เช่น เยอรมนี ยังไม่ฟื้นตัวดี ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมของยุโรปอาจจะขยายตัวได้เพียง 0% เท่านั้น จากคาดการณ์ 1% ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปลงทุน หรือไปร่วมทุนกับธุรกิจในยุโรป อย่างในธุรกิจเหล็ก พลังงาน หรือการเงิน
ในด้านการค้าโลก เห็นว่าจะทำการค้าได้ยากขึ้น เพราะกฎระเบียบและข้อจำกัดทางการค้าและการลงทุนมีมากขึ้น ทำให้การค้าและการลงทุนแคบลงมาก ซึ่งจากข้อมูลที่ทำการสำรวจร่วมกันระหว่างอังค์ถัด, WTO และองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่ากฎข้อบังคับการค้า การลงทุนที่ประเทศต่างๆ นำออกมาใช้มีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2550 พบมาตรการจำกัดการลงทุน และการค้า มีเพียง 3% แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 4% หรือประมาณ 970 มาตรการ อย่างสหรัฐฯ ที่เคยบอกคนอื่นว่าต้องทำการค้าเสรีและลดข้อจำกัดต่างๆ ที่ขัดขวางการค้าเสรี แต่วันดีคืนดี ประธานาธิบดีก็ลุกขึ้นมาประกาศนโยบาย “บาย อเมริกา” ซึ่งถือเป็นการจัดการค้าของประเทศอื่นๆ ดังนั้น WTO จะต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดกฎ และระเบียบต่างๆ ที่หลายประเทศนำออกมาใช้กีดกัน