ทันทีที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นแกนนำในการผลักดันความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ได้ประกาศความสำเร็จในการเจรจาเปิดเสรีร่วมกับสมาชิก 12 ประเทศ และมีคำถามถึงประเทศไทยว่าจะมีแผนรับมือในเรื่องนี้อย่างไร ไทยจะเดินหน้าไปทางไหน เพื่อไม่ให้ไทยเสียประโยชน์ในเวทีการค้าโลก ซึ่ง “น.ส.ศิรินารถ ใจมั่น” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เปิดโอกาสให้สัมภาษณ์ถึงแผนการทำงานและแนวทางการรับมือ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการเจรจาการค้าเสรีของไทย
น.ส.ศิรินารถบอกว่า ไทยจะต้องผนึกกำลังกับอาเซียนในการผลักดันให้การเจรจาเปิดเสรีในกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกหลักอย่างอาเซียน และคู่เจรจา 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ประสบความสำเร็จให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งจะต้องทำให้จบภายในปี 2559 ตามที่ได้กำหนดกันเอาไว้ เพราะตอนนี้ TPP จบแล้ว อาเซียนต้องเร่ง RCEP ให้จบให้ได้ และไม่น่าจะยาก เพราะทุกประเทศคู่เจรจา มีการทำ FTA กับอาเซียนอยู่แล้ว
“ถ้าอาเซียนสามารถผลักดันให้ RCEP เจรจาจบลงได้ จะช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะ RCEP มีจีดีพีรวมกันเท่ากับ 22.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 29% ของโลก มีประชากร 3,300 ล้านคน คิดเป็น 50% ของประชากรโลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 29% ของการค้าโลก และยังถือว่า RCEP มีความน่าสนใจกว่า TPP ตรงที่มีจีนกับอินเดียอยู่ด้วย ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับไทยในทุกด้าน ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการค้าบริการ”
ปัจจุบัน RCEP ได้มีการสรุปการเปิดเสรีการค้าสินค้าได้แล้ว คือ การลดภาษีสินค้ากลุ่มแรก สมาชิกจะลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 65% ของสินค้าที่มีการค้าขายในกลุ่ม RCEP ที่มีอยู่ประมาณ 8-9 พันรายการ โดยแต่ละประเทศจะไปทำแผนการลดภาษีให้เสร็จภายในปี 2559 และอีก 20% จะทยอยลดภาษีเหลือ 0%ภายใน 10 ปี ส่วนสินค้าที่เหลืออีกประมาณ 15% ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอ่อนไหว แต่จะมีการเจรจาให้มีการปรับลดภาษีลงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ น.ส.ศิรินารถเชื่อว่า การเจรจา RCEP จะไม่มีแรงกดดันสำหรับทุกประเทศ ทั้งในอาเซียนและคู่เจรจา 6 ประเทศ เพราะมีการเจรจาพูดคุยกันมานานแล้ว และมาตรฐานต่างๆ ก็ไม่สูงเท่ากับ TPP ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และการแข่งขัน จึงน่าจะเจรจากับได้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับกรอบ TPP น.ส.ศิรินารถกล่าวถึงแนวทางการทำงานในส่วนที่กรมฯ รับผิดชอบว่า TPP มีมาตรฐานสูงในหลายเรื่อง แต่กว่าจะมีผลบังคับใช้ต้องมีเวลาอย่างน้อย 2 ปี เพราะแต่ละประเทศสมาชิกจะมีขั้นตอนดำเนินการภายในประเทศที่แตกต่างกัน ไม่น่าจะเร็วไปกว่านี้ แสดงว่าไทยยังมีเวลาในการศึกษารายละเอียดของข้อตกลง ต้องดูข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากข้อตกลงมีมาตรฐานสูงมาก
“ตอนนี้ กรมฯ ได้ให้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ดูรายละเอียดข้อตกลงในทุกแง่ทุกมุม น่าจะได้รายงานชิ้นแรกภายในเดือน ม.ค. 2559 ซึ่งจากนั้น เราก็จะมาดูกันว่าผลเป็นยังไง มีข้อดีแค่ไหน ข้อเสียแค่ไหน จะบรรเทาผลกระทบอย่างไร เมื่อรวบรวมได้ทั้งหมด ก็จะนำเสนอให้บอร์ดชุดที่คณะกรรมการพัฒนาการค้าระหว่างประเทศ (พกค.) แต่งตั้ง และมี รมว.พาณิชย์เป็นประธานพิจารณา และเมื่อได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป”
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะไปถึงขั้นการกำหนดท่าทีของไทย กรมฯ จะนำผลการศึกษาไปชี้แจง จัดเวทีสัมมนา จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยว และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่าแต่ละภาคส่วนมีความคิดเห็นยังไง และยังจะมีทีมงานไปหารือกับประเทศที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP แล้วว่าข้อตกลงมีรายละเอียดยังไง เพราะความตกลงหนาถึง 2-3 พันหน้า ก็ต้องมีทั้งอ่านเอง แปลเอง และไปถามคนที่เป็นสมาชิก
น.ส.ศิรินารถกล่าวว่า ความตกลง TPP เหมือนกับความตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่คนที่จะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ จะต้องแจ้งแค่ว่าจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ไม่สามารถไปเจรจาอะไรได้อีก ต้องยอมรับในสิ่งที่สมาชิกเดิมได้ตกลงกันไว้ และไม่รู้ว่าสมาชิกเดิมจะมีการเรียกร้องอะไรจากไทยหรือไม่ เพราะอย่างที่บอก คนที่เป็นสมาชิกใหม่ จะต้องยอมเสียค่าผ่านทางให้กับสมาชิกเดิม ถือเป็นเรื่องปกติ
ถ้าถามว่าหากไทยไม่เข้าร่วมข้อตกลง TPP จะเกิดอะไรขึ้น น.ส.ศิรินารถแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า ถ้าไทยไม่เข้า TPP เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ เข้าไปแล้ว และประเทศเหล่านี้เป็นสมาชิกอาเซียนเหมือนไทย นั่นหมายความว่า นักลงทุนอาจจะไม่มาที่ไทย จะไปประเทศเหล่านี้แทน เพราะอย่างเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า TPP เปิดโอกาสให้สมาชิกสะสมได้ทุกแหล่งกำเนิด แค่นี้ก็ดึงดูดการลงทุนแล้ว
“ที่เห็นชัดและน่ากังวลก็คือ ถ้าไทยเข้าไม่ TPP พวกนี้จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่เป็นสมาชิก TPP แต่ถ้าไทยเข้า อย่างน้อยนักลงทุนไม่หนี เพราะนักลงทุนเหล่านี้ มองถึงประโยชน์ที่จะได้ จะไปในที่ๆ ได้ประโยชน์มากกว่า แล้วถ้าพวกกระเป๋าหนักๆ ไป เราจะลำบาก อย่างญี่ปุ่นซึ่งลงทุนในไทยมานานก็อยากให้ไทยเข้า รวมถึงประเทศที่มีการลงทุนในไทยอื่นๆ ด้วย”
น.ส.ศิรินารถย้ำในตอนท้ายว่า ผลการศึกษาข้อดีและข้อเสียในการเข้าร่วม TPP จะพยายามทำให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2559 แล้วจากนั้นจะนำเสนอตามขั้นตอน ซึ่งเวลาเสนอ ก็จะมีทั้งข้อดีของการเข้าร่วม TPP มีอะไรบ้าง และข้อเสียมีอะไร ผลกระทบเป็นอย่างไร ซึ่งจะรวมไปถึงแนวทางการบรรเทาผลกระทบ และเมื่อสรุปได้ทั้งหมดแล้ว ก็จะนำเสนอคณะกรรมการที่มี รมว.พาณิชย์เป็นประธาน จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดท่าทีของไทยต่อไปว่าจะเข้าร่วมหรือไม่