อาเซียนเดินหน้าแผนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 วางกรอบการทำงานช่วง 10 ปีข้างหน้า เน้นเปิดตลาดเพิ่มขึ้นทั้งด้านการค้า บริการ ลงทุน และการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้มีตัวชี้วัดชัดเจน พร้อมจี้สมาชิกเร่งเปิดตลาดบริการให้จบภายในปี 60 คาดธุรกิจไทยได้ประโยชน์เพียบ เผยยังได้ตกลงกับญี่ปุ่นทำแผนร่วมมือเศรษฐกิจ 10 ปี ทบทวน FTA กับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ร่วมมือแก้อุปสรรคการค้ากับสหรัฐฯ และร่วมมือด้านการผลิตกับจีน
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 48 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ว่าอาเซียนได้ร่วมประชุมกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากที่ได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้หารือถึงแผนงานภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 หรือ AEC Blueprint 2025 ที่จะเป็นการวางรากฐานทางเศรษฐกิจและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อาเซียนได้ให้การรับรองแผนงานและกิจกรรมใน 9 สาขาสำคัญที่จะดำเนินการในช่วง 10 ปีข้างหน้า เช่น แผนงานด้านการค้าสินค้า จะมีการปรับปรุงความตกลงการค้าและการสร้างกลไกลดผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษี แผนงานด้านบริการ จะมีการพิจารณาวิธีการใหม่ๆ เพื่อการเปิดเสรีการค้าบริการที่ลึกขึ้น แผนงานด้านการลงทุนซึ่งจะครอบคลุมการประเมินผลการเปิดเสรีการลงทุน การทบทวนข้อจำกัดต่างๆ การคุ้มครองการลงทุน การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพ แผนงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภครวมถึงให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเพื่อให้มีความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจข้ามพรมแดน โดยแผนงานทั้งหมดนี้จะมีแนวทางการวัดผลว่าทำได้หรือไม่ได้ และวัดผลที่เกิดขึ้นต่ออาเซียนด้วย
นางอภิรดีกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนยังได้หารือการเปิดตลาดการค้าบริการ โดยได้เร่งรัดให้อาเซียนเปิดตลาดบริการเพิ่มเติมให้ได้ตามที่ตกลงกันภายในปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของภาคบริการในภูมิภาค ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และยกระดับภาคบริการของอาเซียนให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก ซึ่งหากมีการเปิดตลาดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะเกิดประโยชน์กับธุรกิจบริการไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอาเซียน โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร สถานพยาบาล ธุรกิจบันเทิง การจัดงานแสดงสินค้า เป็นต้น
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ให้การรับรองแนวทางความร่วมมือที่จะดำเนินการภายใต้แผนงานอาเซียน 10 ปี ที่ สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียนได้จัดทำจำนวน 5 แผนงาน ได้แก่ 1. การอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งครอบคลุมพิธีการศุลกากร การขนส่ง มาตรฐาน การจัดทำกฎระเบียบที่โปร่งใส เป็นต้น โดยเปิดให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ 2. จัดทำความตกลงระหว่างอาเซียนดูแลความปลอดภัยอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 3. กรอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) 4. การเริ่มต้นธุรกิจ เช่น การให้บริการแบบ one-stop การรับจดทะเบียนทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 5.แนวทางความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงการผลิตและการเป็นฐานผลิตเดียวกัน
นางอภิรดีกล่าวว่า อาเซียนยังได้ให้การรับรองเอกสารแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น ระยะ 10 ปี ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่น เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนา SMEs การพัฒนาอุตสาหกรรมลุ่มแม่น้ำโขง การปรับปรุงนวัตกรรม เป็นต้น และรับรองเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เพื่อประเมินประโยชน์ผลกระทบและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุง พัฒนา ยกระดับ และแก้ไขข้อจำกัดภายใต้ความตกลงฯ
ขณะเดียวกัน ได้รับรองเอกสารความร่วมมือด้านการส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ดีด้านความโปร่งใสและข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการออกกฎระเบียบระหว่างอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เพื่อขจัดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่จำเป็นและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้งจะมีการหารือกับจีนเพื่อสรุปร่างแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียน–จีนว่าด้วยความร่วมมือในการเสริมสร้างศักยภาพการผลิต ซึ่งจะเสนอผู้นำอาเซียนและจีนให้การรับรองต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้อาเซียนยังได้มีการหารือกับประเทศคู่เจรจารวม 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย สหรัฐฯ และแคนาดา เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย