มหาสารคาม- มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดค่ายเทคโนโลยีอาหารและผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ (Food Tech and Young Startup Camp) อบรมเยาวชน เตรียมความพร้อมก้าวสู่ผู้ประกอบการด้านอาหารรุ่นใหม่ของประเทศ
ที่ห้องประชุมคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) นายโชคชัย เดชอมรธัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิด “ค่ายเทคโนโลยีอาหารและผู้ประกอบการรุ่นเยาว์” (Food Tech and Young Startup Camp)
โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ ประมวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วยผู้แทนกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครู และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นิสิตระดับปริญญาตรี เข้าร่วมในกิจกรรมกว่า 700 คน
นายเอกพงศ์ มุสิกะเจริญ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เปิดเผยว่า จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสร้างโมเดล ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 เป็นการพัฒนา “เครื่องยนต์เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่” ด้วยการแปลงความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ ของประเทศ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายเชิงชีวภาพ และ ความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม ให้เป็น ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน
การเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาเพื่อนำพาประเทศให้หลุดพ้นจาก รายได้ปานกลาง เป็นประเทศ รายได้สูง จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย ประสิทธิภาพ เป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย “นวัตกรรม” เพื่อยกระดับผลิตภาพ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
โดยให้มหาวิทยาลัยและเด็กรุ่นใหม่มาทดลองผลิตสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ขณะที่ภาครัฐช่วยหาเงินทุนและสินเชื่อเข้ามาอุดหนุน จึงสามารถสร้างสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจเกิดใหม่ ได้มากขึ้น เป็นพลังสำคัญช่วยผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ผู้จัดงานได้เล็งเห็นความสำคัญในการปลูกฝังเยาวชน คนรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน ตามแนวทาง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และสนับสนุนรูปแบบการศึกษาแนวใหม่ ที่เรียกว่า STEM อันประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้ง 4 สาขาวิชาเข้าด้วยกัน อีกทั้งเพื่อให้เยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ได้พัฒนาแนวคิดทางด้านการทำธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคตที่มีความรวดเร็ว แข็งขันมากขึ้น
ตลอดระยะเวลา 3 วัน คือตั้งแต่วันที่ 20 - 22 มิถุนายน 2559 ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความรู้ที่หลากหลายจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน อาทิเช่น ความปลอดภัยอาหาร การถนอมรักษา การแปรรูปอาหาร มหัศจรรย์ข้าวไทย แบ่งกลุ่มเพื่อจัดทำผลงานตามแนวความคิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น ข้าวจี่ การศึกษาดูห้องปฏิบัติการของอุทยาวิทยาศาสตร์ การพัฒนาโมเดลธุรกิจ
เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้และลงมือทำ (Hands-On) เกิดประสบการณ์ตรงจากการฝึกปฏิบัติจริง เข้าใจในอาชีพนักวิทยาศาสตร์การอาหารอย่างแท้จริง
โดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำและกระตุ้นกระบวนการคิดและเรียนรู้ อย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นตนเอง ซึ่งจะส่งผลให้เยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร นำไปสู่การเตรียมความพร้อม ก้าวไปสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ Startup ต่อไปในอนาคต