xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “เอ็ม-คอมเมิร์ซ” มาแรง! คนไทยติดแชต 4 ชั่วโมงต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - “นีลเส็น” กางผลวิจัยผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ชาวไทย พบติดหนึบใช้งานเฉลี่ย 234 นาทีต่อวัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 20.00-21.00 น. ใช้งานพีกสุดถึง 13.1 นาทีต่อชั่วโมง ระบุ “เอ็ม-คอมเมิร์ซ” เติบโตอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบปีต่อปี ทั้งการทำธุรกรรมการเงินการธนาคารและประกันภัยเหตุ เติบโตถึง 39% ส่วนการชำระเงินออนไลน์โตพรวด 100% ขณะที่ชอปปิ้งออนไลน์ขยายตัว 57%

นางสาวยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงผลสำรวจผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยในช่วงไตรมาสที่สอง (เดือน เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2559 จากผู้ใช้สมาร์ทโฟนระบบแอนดรอยด์ ทั้งชายและหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 705 กลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า การใช้ข้อมูล (Data Consumption) ในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในไตรมาสที่สองคนไทยมีการใช้งานสมาร์ทโฟนเฉลี่ย 234 นาที หรือประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่ใช้เฉลี่ย 210 นาทีต่อวัน โดยช่วงเวลาที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดคือ ตั้งแต่เวลา 08.00-23.00 น. ด้วยค่าเฉลี่ยการใช้งาน 12 นาทีต่อชั่วโมง ขณะที่ช่วงเวลาที่มีการตื่นตัวในการใช้งานมากที่สุดคือเวลา 20.00-21.00 น. มีการใช้งานมากถึง 13.1 นาทีต่อชั่วโมง

ผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยยังมีการใช้งานสมาร์ทโฟนผ่าน Wi-Fi เป็นหลัก ทั้งในส่วนที่มาพร้อมกับตัวเครื่องและบริการ Wi-Fi รูปแบบต่างๆ ในทุกสถานที่ โดยมีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2557 ซึ่งมีปริมาณการใช้ข้อมูล 500 MB ต่อวัน เพิ่มเป็น 544 MB ในไตรมาสที่สี่ และเพิ่มเป็น 575 MB ในไตรมาสแรกของปี 2558 ก่อนที่จะขยายตัวขึ้นถึง 20% หรือคิดเป็น 689 MB ในไตรมาสที่สอง

“เหตุผลหลักที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้นน่าจะมาจากการใช้งานผ่านฟอร์แมตที่เป็นรูปแบบของวิดีโอมากขึ้น ทั้งการถ่ายทอดสด หรือการดูวิดีโอสตรีมมิ่งผ่านสมาร์ทโฟนมือถือ รวมถึงการใช้แชตแอปฯ ที่เพิ่มขึ้น แบรนด์และเจ้าของสินค้าจึงควรพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์การตลาดเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้เครื่องมือสื่อสารที่เปลี่ยนไปในขณะที่ยังคงส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการใช้งานอีกด้วย”

นางสาวยุวดีกล่าวด้วยว่า ผลสำรวจครั้งนี้ยังพบข้อมูลที่น่าสนใจคือ การเติบโตของ “เอ็ม-คอมเมิร์ซ” ใน 3 ส่วน ได้แก่ 1. การทำธุรกรรมทางการเงิน การธนาคาร ประกันภัย และเทรดหุ้นออนไลน์ (BFSI : Banking, Financial Services & Insurance) ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ 2. การชำระเงินออนไลน์ (Mobile Payment) ผ่านช่องทาง PayPal, TrueMoney, mPAY, SCB UP2ME, Alipay เป็นต้น 3. การชอปปิ้งออนไลน์ (Mobile Shopping) ผ่านเว็บไซต์ต่างๆ เช่น อาลีบาบา, ลาซาด้า, ตลาดดอทคอม, เทสโก้โลตัสออนไลน์, วีเลิฟช้อปปิ้ง เป็นต้น

การเติบโตดังกล่าวถือเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของการใช้งานด้านการเงินบนสมาร์ทโฟนที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนชาวไทยมีความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการด้านความสะดวกรวดเร็วในการจับจ่ายซื้อสินค้าและทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจากข้อมูลเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีต่อปีย้อนหลัง 3 ปีพบว่า ในไตรมาสแรกของปี 2556 คนไทยทำธุรกรรมทางการเงินการธนาคาร BFSI เพียง 8% และเพิ่มเป็น 31% ในปี 2557 ก่อนจะขยายตัวเป็น 43% หรือเติบโตขึ้น 39% ในปี 2558 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 49% ในไตรมาสที่สองของปี 2558

ขณะที่ Mobile Payment มีการใช้งานเพียง 7% ในไตรมาสแรกของปี 2556 และเพิ่มเป็น 12% ในปี 2557 ก่อนจะขยายตัวเป็น 24% หรือเติบโตถึง 100% ในปี 2558 และคาดว่าจะยังเติบโต 24% ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ส่วน Mobile Shopping มีการใช้งาน 11% ในไตรมาสแรกของปี 2556 และเพิ่มเป็น 23% ในปี 2557 ก่อนจะขยายตัวเป็น 36% หรือเติบโตถึง 57% ในปี 2558 โดยคาดว่าในไตรมาสที่สองของปี 2558 จะเติบโตใกล้เคียงกันคือประมาณ 33%

“การเติบโตนี้ชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์ของคนไทย ขณะที่บทบาทของสมาร์ทโฟนที่มีมากขึ้นยังแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยที่เปิดรับเอ็ม-คอมเมิร์ซมากขึ้น ทำให้เห็นถึงโอกาสสำหรับตลาดการซื้อขายสินค้าและบริการบนสมาร์ทโฟนในประเทศไทย แบรนด์และเจ้าของสินค้าต่างๆ จึงควรดึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมบนแพลตฟอร์มนี้ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มให้รองรับการให้บริการของตนมากขึ้น รวมถึงใช้ช่องทางนี้ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า”

นางสาวยุวดีกล่าวในตอนท้ายว่า ผลสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า 10 แอปพลิเคชันที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนไทยมากที่สุด ได้แก่ 1. ไลน์ มีการใช้งาน 60 นาทีต่อวัน 2. เฟซบุ๊ก 37 นาทีต่อวัน 3. กูเกิล โครม 12 นาทีต่อวัน 4. ยูทิวบ์ 11 นาทีต่อวัน 5. เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ 4 นาทีต่อวัน 6. กูเกิล เสิร์ช 2 นาทีต่อวัน 7. กูเกิล เพลย์ สโตร์ 2 นาทีต่อวัน 8. อินสตาแกรม 2 นาทีต่อวัน 9. ไพ่เก้าเกโป๊กเกอร์ 2 นาทีต่อวัน และ 10. 360 Security Lite Speed Boost 2 นาทีต่อวัน



กำลังโหลดความคิดเห็น