สภาองค์การนายจ้างเผยอีก 4-5 ปี ไทยยังขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือโดยเฉพาะสายวิชาชีพ จบอาชีวะมามีงานทำแน่ ขณะที่แรงงานขั้นต่ำยิ่งขาดหนักต้องใช้แรงงานต่างด้าวแล้ว 3 ล้านคน ด้านแรงงานจบปริญญาตรีสายสามัญยังเตะฝุ่นปีละ 2-3 หมื่นทุกปี แนะรัฐเร่งทบทวน
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอมรับว่าแรงงานของไทยนั้นมีทั้งขาด และเกิน โดยแรงงานที่ยังคงขาดแคลนจะมาจาก 2 ส่วน คือ แรงงานวิชาชีพที่มีทักษะฝีมือแรงงานซึ่งเป็นที่ต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการต่างๆ อีกส่วนคือแรงงานไร้ทักษะที่ขณะนี้จะพบว่าได้ถูกทดแทนด้วยแรงงานต่างด้าวไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนแล้วจึงถือว่าขาดหนัก และในอีก 4-5 ปีข้างหน้าแรงงานเหล่านี้ตลาดยังเป็นที่ต้องการอยู่และจะขาดหนักหากไทยไม่สามารถก้าวผ่านปัญหาเดิมๆ ไปได้นั่นคือค่านิยมต้องส่งลูกหลานเรียนปริญญาตรีเท่านั้น
“เด็กรุ่นใหม่เวลานี้ไม่นิยมเรียนสายอาชีวะด้วยเพราะไม่อยากลำบาก ประกอบกับค่านิยมเรียนสายนี้มาก็คิดว่าจะเป็นนักเลงอย่างเดียว พ่อแม่เลยไม่สนับสนุนลูกเรียน บางคนเรียนปริญญาตรีสายสามัญมาระหว่างทางอยากเปลี่ยนระบบก็ยังไม่เปิดจุดนี้ เห็นว่าจะต้องแก้ไขกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมและการโยกการเรียนระหว่างทางได้” นายธนิตกล่าว
สำหรับแรงงานที่ยังล้นระบบและตกงานเฉลี่ยทุกปีปีละไม่น้อยกว่า 2-3 หมื่นคน คือผู้ที่จบปริญญาตรีที่ไม่ใช่สายอาชีพ ส่วนนี้ปัจจุบันเป็นผู้ตกงานสะสมไม่น้อยกว่า 1.7 แสนคน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยคิดเฉลี่ยประมาณ 20% ของแรงงานทั้งหมด และรัฐบาลกำลังผลักดันให้เดินไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการใช้แรงงานจากเครื่องจักรกล หุ่นยนต์มาแทนคนนั้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องอนาคตแต่ไทยจำเป็นต้องศึกษาแนวทางแก้ไขทั้งระยะสั้นกลางและยาวในการรับมือ