เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลังเกือบ 1 ล้านครัวเรือนได้รับผลกระทบหนัก หลังรัฐปล่อยนำเข้าข้าวสาลีเสรี ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันเส้นตก คาดปีนี้นำเข้าอาจทะลุ 5 ล้านตัน เพิ่มจากปี 57 ที่นำเข้ามาแค่ 5.93 แสนตัน เรียกร้องรัฐใช้มาตรการดูแลด่วน แฉซีพี เบทาโกร แหลมทอง ซันฟีด ผู้นำเข้าหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและมันสำปะหลัง ได้แสดงความเป็นกังวลกรณีการนำเข้าข้าวสาลีที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2557 ที่มีการนำเข้าเพียง 5.93 แสนตัน ปี 2558 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.46 ล้านตัน และคาดว่าปี 2559 จะมีการนำเข้าสูงถึง 5 ล้านตัน ซึ่งผลจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้กระทบต่อราคาของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และราคามันเส้น ที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 4.5 แสนครัวเรือน และมันสำปะหลัง 5.2 แสนครัวเรือน
ทั้งนี้ ผลจากการนำเข้าข้าวสาลีที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับตัวลดลง โดยราคาเฉลี่ยปี 2556/57 อยู่ที่ 8.70 บาท/กิโลกรัม (กก.) ปี 2257/58 ราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 9.39 บาท/กก. เพราะปีนี้ผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ปัจจุบันราคาได้ลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 8.50-9.00 บาท/กก. ส่วนมันเส้นราคาเฉลี่ยปี 2556/57 อยู่ที่ 7.37 บาท/กก. ปี 2557/58 อยู่ที่ 7.49 บาท/กก. และปัจจุบันราคาเฉลี่ยที่ 6.40 บาท/กก.
โดยจากการติดตามสถานการณ์ราคา พบว่า ก่อนที่รัฐบาลจะปรับลดภาษีนำเข้าข้าวสาลีเหลือ 0% ในปี 2556 ช่วงนั้นราคาข้าวสาลีแพงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาต่างกันประมาณ 1-2 บาท แต่พอมีการนำเข้ามากขึ้น ทำให้ราคาข้าวสาลีถูกกว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเริ่มถูกกว่าตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยถูกกว่าตั้งแต่ 1-2 บาทเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีการนำเข้ากากข้าวโพดเหลือจากการทำเอทานอล (DDGS) เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2557 นำเข้า 2.26 แสนตัน เพิ่มเป็น 4.62 แสนตันในปี 2558 และไตรมาสแรกปี 2559 นำเข้าแล้ว 1.66 แสนตัน ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการลดการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศลดลง และกระทบต่อราคาที่เกษตรกรจะขายได้
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการนำเข้า พบว่า ผู้นำเข้าข้าวสาลี 5 อันดับแรก เป็นผู้นำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ถึง 4 ราย และนำเข้าเพื่อผลิตเป็นอาหารมนุษย์ 1 ราย โดยบริษัทที่นำเข้าเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ได้แก่ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ , บริษัท เบทาโกร จำกัด , บริษัท แหลมทองสหการ จำกัด , บริษัท ซันฟีด จำกัด และที่นำเข้าเพื่อผลิตอาหารมนุษย์ คือ บริษัท ยูไนเต็ด ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน)
รายงานข่าวแจ้งว่า หากยังคงมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลกระทบทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันเส้นปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน เพราะผู้ผลิตอาหารสัตว์จะไม่ซื้อผลผลิตในประเทศ แต่จะใช้วิธีการเพิ่มการนำเข้าแทน เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและราคาปัจจุบันก็ยังถูกกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งหากรัฐไม่เข้ามาดูแล ก็จะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลังได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน
สำหรับมาตรการดูแล กรมการค้าภายในได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณานำข้าวสาลีเป็นสินค้าควบคุม ตั้งแต่เดือนม.ค.2559 แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการเข้ามาดูแลแต่อย่างใด ทำให้ยังคงมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง