xs
xsm
sm
md
lg

พลังเป็ด! มรภ.สุราษฎร์ฯ ชูไอเดียฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ จับมือชุมชนคิดสูตรอาหารเป็ดเอง ไม่ง้อราคายาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ชูงานวิจัย “พลังเป็ด” ช่วยชุมชนฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ สู่วิถีพึ่งตนเอง ไม่ง้อราคายางพารา คิดค้นสูตรอาหารเป็ดจากวัตถุในท้องถิ่น ลดต้นทุนการผลิตถึง 20% พร้อมผุดฟาร์มตัวอย่างถ่ายทอดวิทยาการในวงกว้าง
 

 
วันนี้ (27 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า นักวิจัย มรส.ได้ลงพื้นที่ไปพบเกษตรกรใน ต.ขุนทะเล อ.เมืองสุราษฎร์ธานี พบว่า ราคายางพาราที่ตกต่ำทำให้เกษตรกรต้องการหันมาทำเกษตรผสมผสานเพื่อเพิ่มรายได้ นักวิจัยจึงคิดค้นโครงการวิจัย “พลังเป็ด” ขึ้นเพื่อแนะนำให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ดไข่ เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยติดกับบึงขุนทะเลซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ สามารถปล่อยให้เป็ดหาอาหารกินเองได้ ประกอบกับไข่เป็ดเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการสูง
 

 
“จากการพูดคุยพบว่าปัญหาของเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดไข่คือ อาหารเป็ดมีราคาแพง ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มทุน เราจึงคิดว่าหากเกษตรกรสามารถผลิตอาหารเป็ดเองได้ก็จะช่วยลดต้นทุนได้มาก ดังนั้น นักวิจัยและเกษตรกรจึงได้ร่วมกันคิดค้นสูตรอาหารสำหรับเป็ดไข่ขึ้นเอง โดยนำรำข้าวสาลีซึ่งเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และสาหร่ายหางกระรอกจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักในสูตรอาหาร และได้ผลเป็นที่น่าพอใจยิ่ง” อธิการบดี กล่าว
 

 
ผศ.โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ และนักวิจัยประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรส. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากสูตรอาหารที่คิดค้นทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าอาหารลงได้ถึงร้อยละ 20 โดยที่อาหารยังมีคุณค่าทางโภชนะเท่าเดิม เป็ดไข่ก็ยังมีอัตราการเติบโต และสมรรถภาพการผลิตไข่เป็นปกติ จากนั้นทีมวิจัยได้ถ่ายทอดผลการวิจัยและทักษะต่างๆ ไปสู่เกษตรกร รวมทั้งการมอบพันธุ์เป็ดตัวอย่างให้ นอกจากนี้ ยังจัดทำฟาร์มตัวอย่างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียงอีกด้วย
 

 
“จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรเลี้ยงเป็ดไข่จำนวน 2,243 ครัวเรือน มีจำนวนเป็ดไข่ 116,211 ตัว สามารถผลิตไข่ได้วันละ 92,000 ฟอง ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะนำไปผลิตไข่เค็ม หากนำสูตรอาหารดังกล่าวไปใช้จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิต และมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยยินดีฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้จนเกษตรกรสามารถทำเองได้ เมื่อมีตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่เกิดขึ้นก็จะช่วยให้ชาวบ้านมองเห็นช่องทางการทำมาหากินในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น” ผศ.โสภณ กล่าว
 

 
ด้าน นางบุญมา ทูลยอดพันธ์ หนึ่งในเกษตรเจ้าของฟาร์มเป็ดตัวอย่าง กล่าวว่า ตนเข้าร่วมโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่แรก โดยบอกแก่มหาวิทยาลัยว่า ปัญหาของตนคืออะไรและต้องการอะไร ซึ่งมหาวิทยาลัยก็ได้ช่วยแก้ปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการให้แก่ตน และเพื่อนเกษตรกร โดยส่วนหนึ่งของวิธีการคือหันมาพึ่งตนเองให้มากขึ้น เช่น หาวัตถุดิบมาทำอาหารสัตว์เอง ซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง และยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนพึ่งตนเองที่มีอนาคตด้วย
 



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น