ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “หาดใหญ่โพล” เผยผลการแก้ปัญหาของรัฐบาลในวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ พบประชาชนร้อยละ 53 เห็นด้วยต่อมาตรการรับซื้อยางพารากิโลกรัมละ 45 บาท และเห็นว่ารัฐบาลควรมีการประกันราคายางพาราไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ถึงร้อยละ 60
วันนี้ (11 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน จ.สงขลา เกี่ยวกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลในวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชน จำนวน 400 คน โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 3-8 กุมภาพันธ์ 2559 ผลการสำรวจสรุปได้ดังนี้
สถานภาพกลุ่มตัวอย่าง : กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 55.41) มีอายุระหว่าง 31-40 ปี (ร้อยละ 34.57) รองลงมา มีอายุระหว่าง 41-50 ปี (ร้อยละ 33.89) และมีอายุระหว่าง 51-60 ปี (ร้อยละ 17.45) ตามลำดับ โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร/เจ้าของสวน (ร้อยละ 54.43) และรับจ้างกรีดยาง (ร้อยละ 45.57) โดยกลุ่มตัวอย่างมีพื้นที่ทำสวนยางพารา ประมาณ 21.99 ไร่ต่อครอบครัว ซึ่งมีรายได้จากการขายน้ำยาง/ยางแผ่นต่อครอบครัว 501-1,000 บาทต่อวัน มากที่สุด (ร้อยละ 26.94) รองลงมา มีรายได้ 1,500-2,000 บาทต่อวัน และ 301-500 บาทต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 22.22 และ 17.51 ตามลำดับ
ผศ.ดร.กอแก้ว จันทร์กิ่งทอง ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาราคายางพาราของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 7.29 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) ส่วนมาตรการการรับซื้อยางพารา กิโลกรัมละ 45 บาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วยต่อมาตรการดังกล่าว (ร้อยละ 53.49)
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน พบว่า ประชาชนระบุว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือนในระดับมาก (ร้อยละ 75.34) รองลงมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือนในระดับปานกลาง และระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 14.00 และ 10.67 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อค่าเล่าเรียนบุตรมากที่สุด (ร้อยละ 39.57) รองลงมาคือ ค่าอาหารภายในครอบครัว (ร้อยละ 29.50) และค่าปุ๋ยในการเกษตร (ร้อยละ 15.82) ส่วนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในการทำสวนยางพารา พบว่า ประชาชนร้อยละ 52.04 มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนยางโดยการปลูกพืชอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของครอบครัวหลังวิกฤตราคายางตกต่ำ และร้อยละ 47.96 ไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำสวนยาง
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวสวนยางพารา ในกรณีวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 84.01 เห็นว่า พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะส่งผลต่อการชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราตกต่ำในระดับมาก รองลงมา ส่งผลต่อการชุมนุมเรียกร้องราคายางพาราตกต่ำในระดับปานกลาง และระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 15.65 และ 0.34 ตามลำดับ
แนวทางการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลควรมีการประกันราคายางพาราไว้ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม มากที่สุด (ร้อยละ 60.00) รองลงมาคือ รัฐบาลควรมีการสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพาราในประเทศ (ร้อยละ 45.75) และแปรรูปอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ (ร้อยละ 45.50) ตามลำดับ