xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรส.เผยเคล็ดลับ “ไข่เป็ดฟองโต” ถ่ายทอดสู่เกษตรกรเพิ่มรายได้ยุคยางราคาตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - นักวิจัย มรส.เผยสาหร่ายหางกระรอก และรำข้าวสาลีหมักยีสต์ ช่วยให้เป็ดออกไข่ฟองโต และไข่ดกขึ้น พร้อมได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดในท้องถิ่น เพิ่มรายได้ในยุคยางราคาตกต่ำ ด้านอธิการบดีฯ ชี้มุ่งผลิต “งานวิจัยกินได้ ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้ง”

วันนี้ (10 พ.ค.) ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ผศ.โสภณ บุญล้ำ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้ทำการทดลองงานวิจัยเรื่อง “เทคโนโลยีการใช้สาหร่ายหางกระรอก และรำข้าวสาลีหมักยีสต์ในอาหารเป็ด” เพื่อทำให้เป็ดออกไข่ฟองโต ไข่ดก และไข่แดงมีสีแดงเข้ม พร้อมกับจัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยดังกล่าวไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดในพื้นที่ ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 30 ราย พร้อมได้มีการติดตามผลการนำไปใช้งานจริง และให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด

“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ตั้งปณิธานไว้ชัดเจนแต่แรกว่า จะผลิตงานวิจัยที่ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้ง หากแต่เป็นงานวิจัยกินได้ กล่าวคือ เป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในท้องถิ่น แก้ปัญหาให้แก่คนในท้องถิ่น เป็นองค์ความรู้ที่จับต้องได้ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และท้องถิ่นได้ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งปณิธานของเรา” อธิการบดีฯ กล่าว
 

 
ด้าน ผศ.โสภณ บุญล้ำ เปิดเผยว่า การใช้สาหร่ายหางกระรอก และรำข้าวสาลีหมักยีสต์ลงในอาหารเป็ด จะช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดได้ใน 3 ทาง คือ 1.ลดต้นทุนค่าอาหาร เพราะเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาทำเป็นอาหารเป็ด 2.เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในอาหารเป็ด ทำให้เป็ดมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ และ 3.ทำให้เป็ดออกไข่ฟองโต ไข่ดกขึ้น และไข่แดงมีสีแดงเข้ม ซึ่งหมายถึงการมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง

“ในส่วนของการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เกษตรผู้เลี้ยงเป็ดนั้น เราถ่ายทอดให้ทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เกษตรกรจะได้ลงมือทำด้วยตัวเองทุกขั้นตอน ทำให้เมื่อจบการอบรมแล้วสามารถนำไปใช้งานจริงได้ทันที นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังได้มอบพันธุ์เป็ด และอาหารเป็ดจากโครงการวิจัยดังกล่าวให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ดครอบครัวละ 5 ตัวด้วย” ผศ.โสภณ กล่าว
 

 
ในขณะที่ นายจะรวย เพชรทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า แต่เดิมตน และชาวบ้านเลี้ยงเป็ดไปตามมีตามเกิด ได้ผลผลิตเท่าไหน คุณภาพอย่างไรก็รับสภาพไปตามนั้น ทำให้ได้ผลผลิต และรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

“เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้เข้ามาสนับสนุนเกษตรผู้เลี้ยงเป็ด ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ความรู้ด้านโภชนาการ ด้านเทคนิค และเทคโนโลยีต่างๆ ก็ทำให้การเลี้ยงเป็ดของชาวบ้านมีระบบแบบแผนมากขึ้น คาดหวังคุณภาพ และราคาได้มากขึ้น ลดต้นทุนการผลิตลง และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในยุคที่ยางพารา ราคาตกต่ำ” นายจะรวย กล่าว
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น