xs
xsm
sm
md
lg

พบชายไทยนิยมเครื่องประดับมากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จากค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทั้งวิถีการดำเนินชีวิต ตลอดจนการเข้ามามีบทบาทของผู้ชายคนดังที่เป็นไอดอลในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ศิลปิน นักดนตรี นักกีฬา ฯลฯ จึงทำให้ “เครื่องประดับ” ไม่ได้เป็นสิ่งของเฉพาะสำหรับเพศหญิงอีกต่อไปแล้ว หากแต่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต่างหู กำไล แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ฯลฯ

ผู้ผลิตเครื่องประดับสำหรับผู้ชายในปัจจุบันจึงให้ความสำคัญและใส่ใจในเรื่องของการดีไซน์และการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่มีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย ทำให้เครื่องประดับสำหรับผู้ชายตอบโจทย์ความต้องการใช้เครื่องประดับที่ไม่ใช่เพียงแค่การใช้งานอีกต่อไป หากแต่ต้องการให้เครื่องประดับนั้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ประจำตัวที่สามารถหยิบมาใช้งานได้ตามโอกาสอันจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกภาพที่ดีให้แก่ผู้ที่สวมใส่ได้ด้วย

จากเหตุผลดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยด้านตลาดเครื่องประดับของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ตลาดเครื่องประดับสำหรับผู้ชายมีแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อมั่นว่าการสวมใส่เครื่องประดับสามารถแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นตัวตนได้อย่างชัดเจน

ความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้นยังทำให้อุตสาหกรรมค้าปลีกเครื่องประดับในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 ว่า มีจำนวนผู้ประกอบการมากถึง 1,683 ราย ยังไม่รวมผู้ประกอบการรายย่อยอีกจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียนในฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมักทำธุรกิจในลักษณะการขายตรง รวมถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นหน้าร้านอีกจำนวนมาก

สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุไว้เมื่อเดือนกันยายน 2558 ว่า จำนวนแรงงานในระบบมีประมาณ 5-6 แสนคน และยังมีแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ รวมถึงครัวเรือนที่เกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับในลักษณะรายย่อยอีกจำนวนมาก

จึงกล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงมีโอกาสที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้และมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาธุรกิจให้ได้มาตรฐานเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลก

จากเหตุผลดังกล่าว ประเทศไทย โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “Bangkok Gems and Jewelry Fair” หรือ “บางกอกเจมส์” มาแล้วถึง 57 ครั้ง ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลกในการเข้าร่วมงานและชมงานเป็นจำนวนมาก การจัดงานครั้งที่ 58 จึงได้กำหนดจัดให้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยการจัดแสดงเต็มพื้นที่อาคารชาลเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 บนพื้นที่กว่า 6 หมื่นตารางเมตร อาคารชาลเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2559

“Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 58” ยังมีการปรับรูปแบบงานใหม่เพื่อตอบโจทย์ความนำสมัยและเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการจัดวางผังโซนใหม่เพื่อให้สะดวกทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย รวมถึงการเปิดเวทีสำหรับเครื่องประดับแพลตฟอร์มใหม่ๆ ที่มีการสร้างสรรค์และออกแบบเพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนาคุณภาพการจัดงาน อันจะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับของโลกที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้จากทุกประเทศทั่วโลกต้องมาเยือน โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าจากในประเทศและต่างประเทศไม่น้อยกว่า 800 บริษัท หรือกว่า 2.4 พันคูหา คาดการณ์ผู้เข้าชมงานและผู้ซื้อคุณภาพกว่า 3 หมื่นคนจาก 160 ประเทศทั่วโลก

ภายในงานยังมีการจัดโซนพิเศษ 6 SHOW CASE โดยผู้เชี่ยวชาญจากอิตาลีและญี่ปุ่นมาให้คำแนะนำและคัดเลือกสินค้าเพื่อมาจัดแสดง โดยเน้นการทำตลาดเฉพาะกลุ่มมากขึ้น แบ่งออกเป็น
(1) 60+ Exhibition - กลุ่มสินค้าสำหรับผู้สูงอายุ
(2) Pet Parade - กลุ่มสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง
(3) The Moments - กลุ่มสินค้าสำหรับเทศกาลพิเศษต่างๆ อาทิ งานแต่งงาน
(4) Art & Craft - กลุ่มสินค้าศิลปหัตถกรรม
(5) Gemstlemen - โซนที่รวบรวมเครื่องประดับทุกชนิดสำหรับคุณผู้ชาย
(6) Spiritual & Horoscope - กลุ่มสินค้ามงคลและความเชื่อที่คาดว่าจะเป็นโซนไฮไลต์อีกโซนหนึ่งของงาน

งาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ครั้งที่ 58 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 กันยายน 2559 ณ อาคารชาลเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ผู้สนใจเข้าร่วมงานสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กลุ่มงานพัฒนาธุรกิจแฟชั่น (สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ) โทร. 0-2507-8392-3 อีเมล bkkgems@ditp.go.th



กำลังโหลดความคิดเห็น