xs
xsm
sm
md
lg

แมกกาซีนปรับทัพสู้โซเชียลมีเดีย เผย “ยอดขายวูบ - โฆษณาร่วง” 30%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
ผู้จัดการรายวัน360- วิกฤติโซเชียลถล่มสื่อนิตยสารครึ่งปีแรกดิ่งลงเหวร่วม 30% โฆษณาต้องขายพ่วงแบบแพกเกจ ซ้ำยอดขายหล่นฮวบ 30% นิตยสารต้องสวมบท “มีเดีย เอเยนซี่” ช่วยลูกค้าใช้สื่อแบบครบวงจร “อัมรินทร์-รักลูก” สองยักษ์ใหญ่วงการนิตยสารฮึดสู้ เดินหน้าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ชูรับบริการสร้างคอนเทนต์สนองลูกค้าบนโลกออนไลน์ ผ่านรูปแบบการบริหารสื่อโฆษณาแบบครบวงจร ฉีกคอนเทนต์ที่แตกต่างจึงจะอยู่รอด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์นิตยสารปิดตัวลงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่นิตยสารหัวรอง แต่หัวใหญ่จากต่างประเทศเองก็พร้อมถอดใจออกจากแผงหนังสือ หรือปรับตัวเป็นสื่อนิตยสารออนไลน์แทนเช่นกัน ทั้งนี้เพราะต้านกระแสสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทแทนไม่ไหว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก

ส่วนในประเทศไทยนั้นนอกจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว การเกิดของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดให้สื่อนิตยสารต้องเจอผลกระทบยกกำลังสอง ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่อนิตยสารตกลงอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากผลสำรวจของ “นีลเส็น” พบว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมาของปี 2559 มีมูลค่า 46,515 ล้านบาท ลดลง 8.50% โดยสื่อนิตยสารมีมูลค่า 1,267ล้านบาท ลดลงถึง 27.85% และเฉพาะเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานั้นมีเม็ดเงินโฆษณาในสื่อนิตยสารเพียง 229ล้านบาท ติดลบ 32.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้กลุ่มธุรกิจเจ้าตลาดนิตยสารในไทยพร้อมใจกันปรับตัวเพื่อก้าวไปพร้อมกับโลกออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของคอนเทนต์ซึ่งเป็นหัวใจหลักของสื่อนิตยสารจะต้องสร้างความแตกต่างระหว่างรูปเล่มและออนไลน์ให้มีความน่าสนใจที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้จากความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีอยู่ยังนำไปสู่การต่อยอดของการครีเอทคอนต์ร่วมกับแบรนด์สินค้า เพื่อสร้างกระแสประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์บนโลกโซเชียลได้ในแบบที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงการยัดเยียด หรือมุ่งเน้นในเรื่องของการขายของมากจนเกินไป ส่งผลให้สื่อนิตยสารต้องปรับตัวเป็น “มีเดีย เอเจนซี่” ที่ต้องทำงานดูแลการใช้สื่อโฆษณาร่วมกับลูกค้ามากขึ้น

*** ยอดขายนิตยสารลดฮวบ 30% ***
นางศิริพร ผลชีวิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับธุรกิจนิตยสารนอกจากจะมีการปิดตัวลงแล้ว ในส่วนที่ยังวางจำหน่ายอยู่นั้นพบว่าปีที่ผ่านมามียอดขายตกลงไปกว่า 30%ในทุกเซ็กเม้นต์ซึ่งเป็นการตกลงในแนวดิ่ง ไม่ใช่ค่อยๆ ตกลง โดยปีที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ค่อนข้างวิกฤติมากสำหรับตลาดนิตยสารหลายเล่มหายไป ส่วนที่เหลือ หรืออยู่ได้จะเป็นเล่มที่อยู่ในอันดับหนึ่งของแต่ละเซ็กเม้นต์เป็นหลัก

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ส่วนหลักคือ พฤติกรรมผู้อ่านที่หันมาอ่านผ่านช่องทางมีเดียต่างๆ แทน ทำให้ยอดขายนิตยสารลดลง และสปอนเซอร์โฆษณาลดลง แม้ว่าในความเป็นจริงลูกค้ายังมีเงินใช้จ่ายและลงโฆษณาอยู่ แต่จะเลือกลงโฆษณาในรูปแบบที่ต้องมีแวลูมากขึ้นจากเดิมจึงจะยอมจ่ายเงิน

*** “รักลูกกรุ๊ป” ชู “อีโคซิสเต็ม” สู้ ***
จากพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยีบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเสพข่าว ค้นหาข้อมูล รับรู้เรื่องราวต่างๆ รวมถึงการแชร์ผ่านสื่อโซเชียลเป็นหลัก ทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานของความสะดวก รวดเร็ว และการใช้งานง่าย ขณะเดียวกันผู้บริโภคยังมีสถานะเป็นผู้ผลิตสื่อ รวมถึงเครื่องมือสื่อสารในโลกโซเชียลอย่าง เฟซบุ๊ก, อินตราแกรม และยูทูป ยังก้าวขึ้นมาอีกขั้นในฐานะของสื่ออีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อดึงสายตาและใช้เป็นฐานข้อมูลสถิติอันนำมาซึ่งการหาเม็ดเงินโฆษณาแทนที่สื่อเดิมที่มีอยู่นั้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสื่อนิตยสารมากที่สุด โดยเฉพาะการหาข้อมูลความรู้ต่างๆ ที่เดิมจะมีเฉพาะในนิตยสารเท่านั้น แต่ปัจจุบันสามารถอ่านได้ผ่านโลกออนไลน์ จุดอ่อนเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่สื่อนิตยสารต้องมีการปรับตัวเพื่อรับมือและปรับให้เป็นจุดแข็งเพื่อก้าวไปพร้อมกันกับโลกโซเชียลในปัจจุบัน

นางศิริพร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้กลุ่มรักลูกได้มีการปรับตัวจากการมุ่งเน้นคอนเทนต์ในนิตยสารรูปเล่มมาสู่โลกออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจคอมมูนิเคชั่น ในปี 2559 จะวางตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เป็นหลักผ่านระบบ Eco System สร้างแวลูที่ชัดเจนเชื่อมโยงทุกแพลทฟอร์ม โดยนิตยสารยังคงอยู่และปรับคอนเทนต์นำเสนอต่อยอดไปสู่แพลทฟอร์มอื่นๆ พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่

จากปัจจุบันในส่วนของธุรกิจคอมมูนิเคชั่น ประกอบด้วย 1.นิตยสาร 3 เล่ม 2.เว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย 3.รายการ ModernMom ModernFamily ทางช่อง 9 และ 4.อีเวนต์ โดยในปี 2559 มองว่าน่าจะทำรายได้รวม 200 ล้านบาท มาจากอีเวนต์ 65% และออนไลน์กับนิตยสารรวมกันอีก 35%
อย่างไรก็ตาม จากการที่แบรนด์ “รักลูก” มีความแข็งแกร่งมากว่า 30 ปีถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญ หลังจากนี้จึงมุ่งเน้น 2 ธุรกิจโซเชียลเลิร์นนิ่งและโซเชียลครีเอวิตี้เป็นหลัก โดยร่วมกับกับโครงการและกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับไปรษณีย์ไทย, โก๋แก่, อินทัช หรือดาวเคมีคอล ในการอบรมพัฒนาเกี่ยวกับระบบที่เกี่ยวข้องกับกระแสโซเชียลในปัจจุบัน

ในปี 2559 แยกธุรกิจออกเป็น 3 ส่วนหลักคือ 1.คอมมูนิเคชั่น หัวใจหลักคือคอนเทนต์และแบรนด์ โดยจะโฟกัสในส่วนของช่องทางมีเดียมากขึ้น 2.โซเชียลเลิร์นนิ่ง และ 3.โซเชียลครีเอวิตี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้สิ้นปีนี้บริษัทฯ จะกลับมามีรายได้ที่ 500 ล้านบาท โดยมาจาก 2 ธุรกิจคือโซเชียล 60% และคอมมูนิเคชั่น 40% จากปีที่ผ่านมาคอมมูนิเคชั่นเป็นธุรกิจหลักในการสร้างรายได้ให้บริษัทมากกว่า 50%

*** “อัมรินทร์ฯ” งัด Omni Media สร้างรายได้***
นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจนส่งผลต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่ลงโฆษณาในสื่อนิตยสารนั้น ส่งผลให้ใน 1-2 ปีนี้ “อัมรินทร์ฯ” จะดำเนินงานภายใต้ 3 กลยุทธ์หลักคือ 1.Omni Media ด้วยการนำเสนอการขายโฆษณาผ่าน 5 ช่องทางหลักคือ ออนไลน์, ออนแอร์, ออนพริ้นท์, ออนกราวด์ และออน พ้อยท์ ออฟ เซลล์ โดยพบว่าปัจจุบันลูกค้าไม่ได้ต้องการลงสื่อโฆษณาเพียงสื่อเดียวเท่านั้น ขณะที่ “อัมรินทร์ฯ” มีสื่อครบวงจร จึงนำเสนอขายโฆษณาเป็นแบบแพ็กเกจและตามความต้องการของลูกค้า โดยพบว่าจำนวนลูกค้ากว่า 50% ของทั้งหมดมีการซื้อสื่อโฆษณามากกว่า 1 แบบ

2.คอนเทนต์ เอเจนซี่ ถือเป็นจุดแข็งที่บริษัทดำเนินงานควบคู่กับการผลิตคอนเทนต์ที่ทำงานใกล้ชิดกับลูกค้ามาโดยตลอด แต่หลังจากนี้จะให้ความสำคัญและเพิ่มบริการนี้แก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการบริการรับดูแลสื่อออนไลน์ให้ลูกค้า เช่น เฟซบุ๊กแฟนเพจ หรือเว็บไซต์ เป็นต้น รวมถึงผลิตคอนเทนต์ป้อนให้โดยลูกค้าสามารถนำคอนเทนต์ดังกล่าวเผยแพร่และใช้งานได้ทุกแพลทฟอร์ม ปัจจุบันมีลูกค้าให้ความสนใจสูงมากในกลุ่มบ้าน ครอบครัว และความงามตามลำดับ

3.การสร้างแบรนด์หัวนิตยสารรูปแบบออนไลน์ให้แข็งแกร่งมากขึ้นตามเทรนด์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ของบริษัทฯยังไปได้ดีอยู่ เช่น กลุ่มบ้านและสวนไม่ได้รับผลกระทบจากโลกออนไลน์เพราะเป็นเซ็กเมนต์ที่มีอยู่น้อยบนออนไลน์ แต่สื่อนิตยสารต้องปรับตัวเพื่อสร้างคอนเทนต์ให้แตกต่างจากโลกออนไลน์

“ในช่องทางออนไลน์นั้นนอกจากจะมุ่งพัฒนาเว็บไซต์และแฟนเพจให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ให้ดีขึ้นทั้งอี-บุ๊กและอี-คอมเมิร์ซแล้ว ยังต้องสร้างคอนเทนต์ระหว่างรูปเล่มและออนไลน์ให้มีความแตกต่างกันด้วยจึงจะอยู่ได้ ขณะเดียวกันยังได้เพิ่มบริการดูแลสื่อออนไลน์ให้กับลูกค้า รวมถึงการสร้างคอนเทนต์ให้ลูกค้าโดยเฉพาะด้วย โดยลูกค้าสามารถนำคอนเทนต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ได้ทุกแพลทฟอร์ม การปรับตัวของอัมรินทร์ฯ ครั้งนี้ เชื่อว่ารายได้ตลอดทั้งปีนี้จะยังคงมีอัตราการเติบโตที่ 10% ตามเป้าหมายที่วางไว้” นางระริน กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น